วันเสาร์ที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2559

ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย



การค้นพบวิชชาธรรมกายของหลวงปู่นับเป็นการค้นพบที่ยิ่งใหญ่
เพราะมิได้เป็นการปฏิบัติตามหรือจดจำจากตำรา แต่เป็นการรู้เห็นและ
เข้าถึงธรรมจริงแท้ที่มีอยู่ภายในด้วยตนเองโดยการดำเนินจิตเข้าไปในหนทางสายกลาง
อันเป็นหนทางสู่ความพ้นทุกข์

กำเนิดผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย


พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) หรือหลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย
ถือกำเนิดในสมัยรัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ท่านมีนามเดิมว่า สด มีแก้วน้อย
เกิดเมื่อวันศุกร์ แรม ๖ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีวอก ตรงกับวันที่ ๑๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๒๗
ณ บ้านสองพี่น้อง ตำบลสองพี่น้อง อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี
เป็นบุตรคนที่สองของ นายเงิน และนางสุดใจ มีแก้วน้อย มีพี่สาว ๑ คน น้องชาย ๓ คน
ในวัยเด็ก หลวงปู่ไปเรียนหนังสือที่วัดตามประเพณีของเด็กชายไทยในสมัยก่อน
ท่านตั้งใจศึกษาเล่าเรียนอย่างจริงจัง จนกระทั่งสามารถอ่านเขียนหนังสือไทยและขอม
ได้อย่างคล่องแคล่ว เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว ท่านก็กลับมาช่วยบิดาประกอบอาชีพค้าข้าว
จนอายุได้ ๑๔ ปีเศษ บิดาของท่านถึงแก่กรรม ท่านจึงต้องหาเลี้ยงครอบครัวแทนบิดา
ในฐานะบุตรชายคนโต โดยนำเรือค้าข้าวขึ้นล่องระหว่างอำเภอสองพี่น้องกับกรุงเทพฯ
เดือนละ ๒-๓ ครั้งซึ่งนับว่าเป็นภาระหนักมากสำหรับเด็กวัยขนาดนั้น
แต่ด้วยความขยันขันแข็งของท่าน กิจการค้าข้าวจึงเจริญขึ้นโดยลำดับ
ทำให้ท่านเป็นผู้ที่มีฐานะดีคนหนึ่ง

เมื่อหลวงปู่มีอายุได้ ๑๙ ปีเศษ ท่านก็เล็งเห็นความไม่มีสาระในการทำมาหากิน
เนื่องจากขณะที่นำเรือเปล่ากลับจากขายข้าวแล่นเข้าไปในคลองเพื่อเดินทางกลับบ้านนั้น
ท่านต้องระแวดระวังภัยที่อาจจะเกิดขึ้นได้ทุกขณะ เพราะว่าในคลองนี้มีโจรผู้ร้ายมาก
เมื่อผ่านพ้นอันตรายมาได้ ท่านก็เกิดธรรมสังเวชว่า
การหาเงินเลี้ยงชีพนั้นลำบาก บิดาของเราก็หามาอย่างนี้ ต่างไม่มีเวลาว่างกันทั้งนั้น
ถ้าใครไม่รีบหาให้มั่งมี ก็เป็นคนชั้นต่ำ ไม่มีใครนับหน้าถือตา เข้าหมู่เพื่อนบ้านก็อับอาย
ไม่เทียมหน้าเขาบุรพชนต้นสกุลก็ทำมาอย่างนี้เหมือนกัน จนถึงบิดาเราและตัวเราในบัดนี้
ก็คงทำอยู่อย่างนี้ ก็บัดนี้บุรพชนทั้งหลายได้ตายหมดแล้ว แม้เราก็จักตายเหมือนกัน
ท่านเกิดความสลดใจและอยากออกบวชเพื่อแสวงหาหนทางพ้นทุกข์จึงจุดธูปบูชาพระ
และอธิษฐานว่า
ขออย่าให้เราตายเสียก่อน ขอให้บวชเสียก่อนเถิด ถ้าบวชแล้วไม่สึกจนตลอดชีวิต
จากนั้นท่านก็ขะมักเขม้นในการทำงานยิ่งขึ้น

ต่อมา เมื่อหลวงปู่มีอายุได้ ๒๒ ปี ท่านก็สามารถรวบรวมเงินได้จำนวนหนึ่ง
ซึ่งคาดว่าเพียงพอสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายของมารดาจนตลอดชีวิตแล้ว
ท่านจึงออกบวชเป็นพระภิกษุในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๔๙ ณ วัดสองพี่น้อง
อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี สมดังที่ได้อธิษฐานไว้
โดยมีพระอาจารย์ดี วัดประตูสาร เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูวินยานุโยค (เหนี่ยง อินฺทโชโต)
วัดสองพี่น้อง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์โหน่ง อินฺทสุวณฺโณ วัดสองพี่น้อง
เป็นพระอนุสาวนาจารย์ได้รับฉายาว่า จนฺทสโร

ก่อนบวชท่านไปเตรียมตัวบวชอยู่ที่วัดเป็นเวลาประมาณ ๑๐ วัน
เพื่อฝึกท่องคำขอบรรพชาอุปสมบทและศึกษาพระวินัย รวมทั้งข้อควรปฏิบัติของสงฆ์
ด้วยเหตุนี้ท่านจึงสามารถปฏิบัติตามพระธรรมวินัยได้อย่างถูกต้องตั้งแต่ต้น

หลังจากที่หลวงปู่พำนักอยู่ที่วัดสองพี่น้องเป็นเวลา ๗ เดือนเศษ ท่านก็เดินทางไปจำพรรษา
ที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม กรุงเทพฯ ก่อนไปวัดพระเชตุพนฯ
ท่านได้ตั้งคัมภีร์ใบลานมหาสติปัฏฐานลานยาวไว้ที่วัดสองพี่น้องผูกหนึ่ง และตั้งใจไว้ว่า
จะต้องแปลคัมภีร์ผูกนี้ให้ออก ถ้ายังแปลไม่ออกก็จะยังไม่หยุดเรียนบาลี
ในช่วงที่หลวงปู่ไปพำนักอยู่ ณ วัดพระเชตุพนฯนั้น ท่านเคยออกบิณฑบาต
โดยไม่ได้อาหารต่อเนื่องกัน๒ วัน และท่านก็ไม่ได้ฉันอะไรเลย
ในวันที่สามท่านบิณฑบาตได้ข้าวมา ๑ ทัพพี กล้วยน้ำว้า ๑ ลูก ขณะที่ลงมือฉันไปได้คำเดียว ท่านเหลือบไปเห็นสุนัขแม่ลูกอ่อนผอมโซเดินมา ท่าทางเหมือนอดอาหารมาหลายวัน
ด้วยจิตเมตตา ท่านจึงตัดสินใจแบ่งข้าวที่เหลืออยู่อีกคำหนึ่งและกล้วยน้ำว้าครึ่งลูก
สละให้เป็นทานแก่สุนัข แล้วอธิษฐานจิตว่า
ขึ้นชื่อว่าความอดอยากอย่างนี้ ขออย่าได้มีอีกเลย
นับแต่นั้นเป็นต้นมา ทุกครั้งที่ท่านไปบิณฑบาต ก็จะได้อาหารมากมาย
เกินกว่าที่ท่านจะฉันหมด และมากพอที่จะแบ่งไปถวายพระภิกษุรูปอื่น ๆ ได้ด้วย
ความลำบากในเรื่องภัตตาหารของพระภิกษุสามเณรในครั้งนี้ ทำให้ท่านเกิดความคิดว่า
หากเรามีกำลังเพียงพอเมื่อใดก็ตาม เราจะตั้งโรงครัวประกอบอาหารเลี้ยงพระเณรโดยไม่ให้ลำบาก จะได้มีเวลาศึกษาเล่าเรียนกันอย่างเต็มที่
ซึ่งปรากฏว่า ในเวลาต่อมาเมื่อท่านได้เป็นเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ
ท่านก็สามารถตั้งโรงครัวเลี้ยงพระภิกษุสามเณรได้จริง ๆ แม้กระทั่งในปัจจุบัน
วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ก็ยังมีผู้คนไปทำบุญเลี้ยงพระเณรกันเป็นจำนวนมากตลอดมา

หลวงปู่ท่านศึกษาค้นคว้าความรู้ในพระไตรปิฎกอยู่ที่วัดพระเชตุพนฯ เป็นเวลาถึง ๑๑ พรรษา จนเชี่ยวชาญภาษาบาลี เมื่อท่านสามารถแปลคัมภีร์มหาสติปัฏฐานได้สำเร็จ
ดังที่เคยตั้งใจไว้ก่อนเดินทางไปอยู่ที่วัดพระเชตุพนฯแล้ว ท่านจึงหยุดเรียนคันถธุระ
และหันมาตั้งใจเรียนวิปัสสนาธุระให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป

อย่างไรก็ตามตลอดเวลาที่ผ่านมานั้น แม้ท่านตั้งใจเรียนคันถธุระตลอดมา
แต่ท่านก็ไม่เคยว่างเว้นการฝึกฝนธรรมปฏิบัติเลยแม้แต่วันเดียว วันเวลาในชีวิตสมณะ
ของท่านจึงเป็นเวลาที่ทรงคุณค่าอย่างยิ่งในเรื่องการเรียนวิปัสสนาธุระนั้น
หลวงปู่ท่านขวนขวายไปศึกษาธรรมปฏิบัติจากพระอาจารย์หลายท่าน
โดยเริ่มเรียนตั้งแต่บวชวันแรกเลยทีเดียว โดยมีรายนามพระอาจารย์ดังนี้ ...
พระอาจารย์โหน่ง อินฺทสุวณฺโณ วัดสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี
หลวงปู่เนียม วัดน้อย จังหวัดสุพรรณบุรี
พระสังวรานุวงษ์ วัดราชสิทธารามกรุงเทพฯ
พระครูญานวิรัติ (โป๊) วัดพระเชตุพนฯ กรุงเทพฯ
พระอาจารย์สิงห์ วัดละครทำ ธนบุรี
ทุกท่านล้วนเป็นพระอาจารย์ที่ทรงคุณวิเศษในทางธรรมปฏิบัติเป็นเยี่ยมทางปริยัติ
งามพร้อมทั้งศีลาจารวัตร และมีลูกศิษย์ลูกหามากมาย

หลวงปู่ฝึกฝนธรรมปฏิบัติด้วยความตั้งใจจริง จนครูบาอาจารย์รับรองผลแห่งการปฏิบัติ
และชักชวนให้อยู่ช่วยกันสอนผู้อื่นต่อไป แต่หลวงปู่ท่านรู้สึกว่า ความรู้เท่านี้ยังไม่เพียงพอ
ที่จะช่วยตนเองให้พ้นทุกข์ได้ ต่อมาท่านจึงศึกษาวิธีการปฏิบัติเพิ่มเติมด้วยตนเอง
จากคัมภีร์วิสุทธิมรรค ซึ่งเป็นคัมภีร์แม่บทของการปฏิบัติธรรม

ค้นพบวิชชาธรรมกาย


ในปี พ.ศ. ๒๔๖๐ ย่างเข้าพรรษาที่ ๑๒ หลวงปู่เดินทางไปจำพรรษาที่วัดโบสถ์ (บน)
ตำบลบางคูเวียง อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี เพื่อตอบแทนพระคุณเจ้าอาวาสวัดโบสถ์ (บน) ที่เคยถวายหนังสือมูลกัจจายน์และคัมภีร์พระธรรมบทให้ท่าน เมื่อครั้งที่ท่านเรียนปริยัติ
ด้วยการไปช่วยแสดงธรรมแก่พระภิกษุสามเณร อุบาสกและอุบาสิกา

ในวันเพ็ญเดือน ๑๐ ระหว่างกลางพรรษาที่ ๑๒เวลาเช้าตรู่ก่อนออกบิณฑบาต
หลวงปู่ท่านระลึกขึ้นมาว่า
เราบวชมานานนับได้ ๑๒ พรรษาแล้ว ยังไม่บรรลุธรรมของพระพุทธเจ้าเลย
ทั้งที่การศึกษาของเราก็ไม่เคยขาดสักวัน เราควรจะรีบกระทำความเพียรให้รู้เห็นของจริง
ในพระพุทธศาสนา หากไม่เริ่มปฏิบัติก็จะได้ชื่อว่าเป็นผู้ตกอยู่ในความประมาท

หลังกลับจากบิณฑบาตและฉันภัตตาหารเช้าเรียบร้อยแล้ว ท่านจึงเดินเข้าสู่อุโบสถเพื่อ
ปฏิบัติธรรม โดยตั้งปณิธานในใจว่า หากไม่ได้ยินกลองเพลก็จะยังไม่ลุกขึ้น
จากที่ ท่านหลับตาภาวนา สัมมา อะระหังจนกระทั่งใจหยุดเป็นจุดเดียวกัน
เห็นเป็นดวงใสบริสุทธิ์ขนาดเท่าฟองไข่แดงของไก่ติดอยู่ที่ศูนย์กลางกาย
และเกิดความรู้สึกสบายใจอย่างบอกไม่ถูก ความปวดเมื่อยทั้งหลายมลายหายไปหมด
พอดีกลองเพลดังกังวานขึ้นวันนั้น หลวงปู่ฉันภัตตาหารเพลด้วยความปีติอิ่มเอิบใจ
ดวงใสที่เห็นยังคงติดอยู่ที่ศูนย์กลางกาย ขณะที่ฉันภัตตาหาร ท่านก็มองดูที่ศูนย์กลางกายไปด้วย แม้ลืมตาก็ยังมองเห็นชัด และความสว่างเช่นนี้ไม่เคยมีมาก่อนเลยในชีวิตการปฏิบัติธรรมของท่าน

หลังจากลงพระปาติโมกข์แล้ว ท่านขอร้องเพื่อนพระภิกษุไม่ให้ไปรบกวน
ท่านบอกว่า จะตายก็ตายเถิดปล่อยให้ได้นั่งตามชอบใจเถอะ ถ้าไม่มีคุณธรรมอะไร
ไม่เห็นอะไร ไม่เป็นอะไร อย่างนี้เลี้ยงไว้ก็เสียข้าวสุกเปล่า ๆไม่มีประโยชน์อะไร
จากนั้นท่านก็เข้าไปในอุโบสถเพื่อปรารภความเพียรขณะนั้น
ท่านมาหวนคิดถึงเมื่อครั้งอายุ ๑๙ ปี ที่ปฏิญาณตนบวชจนตาย บัดนี้เวลาผ่านมาถึง ๑๕ ปีแล้ว
ก็ยังไม่ได้บรรลุธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงรู้เห็นเลย
ท่านจึงตั้งสัจจาธิษฐานทำสมาธิภาวนาอย่างเอาชีวิตเป็นเดิมพันว่า
ถ้าเรานั่งลงไปครั้งนี้ ไม่เห็นธรรมที่พระพุทธเจ้าต้องการ เป็นอันไม่ลุกจากที่นี้จนหมดชีวิต

เมื่อตั้งจิตมั่นลงไปอย่างนั้นแล้ว ท่านได้แสดงความอ้อนวอนต่อหน้าพระประธาน
ซึ่งเปรียบเสมือนตัวแทนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า
ขอพระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดข้าพระพุทธเจ้า ทรงพระราชทานธรรมที่พระองค์
ได้ทรงตรัสรู้อย่างน้อยที่สุด แลง่ายที่สุด ที่พระองค์ได้ทรงรู้แล้วแก่ข้าพระพุทธเจ้า
ถ้าข้าพระพุทธเจ้ารู้ธรรมของพระองค์แล้ว เป็นโทษแก่ศาสนาของพระองค์
ขอพระองค์อย่าทรงพระราชทานเลย ถ้าเป็นคุณแก่ศาสนาของพระองค์ ขอพระองค์ได้
ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานแก่ข้าพระองค์ ข้าพระองค์รับเป็นทนายศาสนาในศาสนา
ของพระองค์จนตลอดชีวิต

ขณะที่ท่านกำลังนั่งเจริญสมาธิภาวนา ท่านเหลือบไปเห็นมดไต่ขึ้นมาตามรอยแตกของอุโบสถ ท่านเกรงว่ามดจะมากัดทำให้ต้องถอนออกจากสมาธิ จึงเอานิ้วมือจุ่มน้ำมันก๊าดลากเป็นวงล้อมรอบตัวเพื่อกันมด แต่ยังไม่ทันวงรอบตัว ท่านก็ฉุกคิดขึ้นมาว่า แม้แต่ชีวิตยังสละได้
แต่ทำไมยังกลัวมดกัดอยู่เล่า ท่านจึงวางขวดน้ำมันลง แล้วปฏิบัติธรรมต่อไป
เวลาผ่านไปประมาณครึ่งค่อนคืน ใจของท่านหยุดสงบนิ่งที่ศูนย์กลางกายได้ส่วนพอดี
ดวงกลมโตใสบริสุทธิ์ที่ศูนย์กลางกายที่ท่านเห็นเมื่อเพล ยิ่งใสสว่างมากขึ้นราวกระจกเงาใหญ่ขนาดดวงอาทิตย์ เห็นอยู่อย่างนั้นหลายชั่วโมง โดยไม่ทราบว่าจะทำอย่างไรต่อไป

ขณะนั้น มีเสียงหนึ่งผุดขึ้นมาจากกลางดวงนั้นว่า  “มัชฌิมา ปฏิปทา 
ทางสายกลางไม่ตึงนักไม่หย่อนนักในความหมายของปริยัติ ขณะเดียวกันที่ศูนย์กลาง
ดวงกลมใสสว่างนั้น ก็มีจุดเล็กเรืองแสงสว่างวาบขึ้นมา ท่านคิดว่า
นี่กระมังทางสายกลาง ท่านจึงมองไปที่จุดนั้นทันที จุดนั้นค่อย ๆ ขยายโตขึ้นมาแทนที่ดวงเก่าซึ่งหายไป ท่านมองเข้ากลาง จุดเล็กที่อยู่กลางดวงใสเรื่อยไป ก็เห็นดวงใหม่ที่สุกใสยิ่งกว่า
ลอยขึ้นมา ท่านเข้ากลางดวงใหม่ที่ลอยขึ้นมาแทนที่อย่างต่อเนื่องไม่ขาดสายไปเรื่อย ๆ
ในที่สุดจึงเห็นกายต่าง ๆ เกิดขึ้นจนกระทั่งถึง ธรรมกายซึ่งเป็นองค์พระปฏิมากรเกตุดอกบัวตูม ใสบริสุทธิ์งดงามหาที่ติมิได้ยิ่งกว่าพระพุทธรูปองค์ใดที่เคยเห็นมา

ด้วยการทำความเพียรอย่างไม่อาลัยในชีวิต หลวงปู่ได้เข้าถึงพระธรรมกายกลางดึกคืนนั้นเอง
ณ เวลานั้นท่านตระหนักว่า ธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้ลึกซึ้งนัก
(เข้ากลาง หมายถึง การดำเนินจิตเข้ากลางดวงที่เห็นเข้าไปเรื่อย ๆ หยุดในหยุด
จนกระทั่งเข้าถึงธรรมกายที่อยู่ในทางสายกลาง)

พ้นวิสัยของการที่จะตรึกนึกคิดหรือคาดคะเนเอาได้เพราะถ้ายังตรึกนึกคิดอยู่ก็เข้าไม่ถึง
จะเข้าถึงได้ต้องทำให้ความรู้ตรึก รู้นึก รู้คิด รวมหยุดเป็นจุดเดียวกัน พอหยุดก็ดับ
ดับแล้วจึงเกิด ในเวลาต่อมาท่านจึงกล่าวสรุปไว้เป็นประโยคสั้น ๆ ว่า หยุดเป็นตัวสำเร็จ

การค้นพบวิชชาธรรมกายของหลวงปู่นับเป็นการค้นพบที่ยิ่งใหญ่
เพราะมิได้เป็นการปฏิบัติตามหรือจดจำจากตำรา แต่เป็นการรู้เห็นและเข้าถึงธรรมจริงแท้
ที่มีอยู่ภายในด้วยตนเอง โดยการดำเนินจิตเข้าไปในหนทางสายกลาง
อันเป็นหนทางสู่ความพ้นทุกข์


วิธีการดำเนินจิตเข้าไปในเส้นทางสายกลางที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลาย
ได้ดำเนินไปแล้วนี้ หายไปเกือบ ๒,๐๐๐ ปี การค้นพบของท่านจึงเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง
ต่อมวลมนุษยชาติ และเหนือสิ่งอื่นใดการค้นพบของท่านยังเป็นพยานยืนยันว่า
ตถาคตเป็นพระธรรมกาย

ตามที่ปรากฏอยู่ในอรรถกถา พระไตรปิฎก วกฺกลิสุตฺตวณฺณนา หน้า ๓๔๒ ถึง ๓๔๓ ว่า...

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงพระธรรมกายที่ตรัสไว้ว่า ขอถวายพระพรมหาบพิตร
ธรรมกายแลคือพระตถาคต ความจริงโลกุตรธรรม ๙ อย่าง (มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑)
ชื่อว่า พระกายของพระตถาคต

เมื่อหลวงปู่เข้าถึงพระธรรมกายแล้ว ท่านยังคงนั่งทบทวนสิ่งที่ค้นพบต่อไปอีก
ขณะนั้น ท่านเห็นวัดบางปลา ปรากฏขึ้นเหมือนตัวเองไปอยู่ที่วัดนั้น
ท่านรู้ด้วยญาณทัสสนะว่า ที่วัดบางปลาจะต้องมีผู้รู้เห็นธรรมได้อย่างแน่นอน
ท่านจึงมีความคิดที่จะไปสอนที่วัดนั้นอยู่เรื่อยมาเมื่อออกพรรษาแล้ว
ท่านจึงเดินทางไปปฏิบัติธรรมและสอนธรรมปฏิบัติที่วัดบางปลา ตำบลบางเลน
จังหวัดนครปฐม ตามที่ได้ตั้งใจไว้ สอนอยู่ราว ๆ ๔ เดือน มีพระภิกษุปฏิบัติตามท่านได้ ๓ รูป และฆราวาสอีก ๔ คน ซึ่งถือเป็นพยานในการบรรลุธรรมของท่าน
การสอนครั้งนี้นับเป็นจุดเริ่มต้นของการเผยแผ่วิชชาธรรมกาย
ที่ท่านค้นพบให้เป็นประโยชน์ต่อชาวโลกต่อมาหลวงปู่ออกเดินธุดงค์จาริก
ไปสอนธรรมปฏิบัติในสถานที่ต่าง ๆ อีกหลายแห่ง ซึ่งปรากฏว่า มีประชาชนสนใจ
มาฝึกปฏิบัติธรรมกับท่านเป็นจำนวนมากและต่างได้รับผลดีตามกำลังแห่งการปฏิบัติของตน



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น