วันอังคารที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2559

ธรรมกาย ในศิลาจารึก



            ศิลาจารึกเป็นหลักฐานที่มีประโยชน์ต่อการศึกษาประวัติศาสตร์โบราณคดี อักษรศาสตร์ 
และภาษาศาสตร์ สะท้อนให้เห็นลักษณะขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมของบุคคลในอดีต โดยเฉพาะเรื่องราวดังกล่าวจะมีหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนา เข้าไปเกี่ยวข้องเสมอ

            ศิลาจารึกพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ นี้ ที่กรมศิลปากรได้มอบหมาย ให้นายชะเอม แก้วคล้าย 
นักภาษาโบราณ กองหอสมุดแห่งชาติ รวบรวมจารึก ๔ หลัก ซึ่งเป็นจารึกภาษาสันสกฤต อักษรขอม มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ซึ่งมีเนื้อหาคล้ายกัน โดยเฉพาะในด้านที่ ๑ มีการกล่าวถึงคำว่า
ธรรมกาย ในโศลกที่ ๑  ความว่า  

            ๑.นโมวุทฺธายนิรฺมฺมาณ            (ธรฺมฺมสามฺโภคมูรฺตฺตเย)
            ๒.ภาวาภาวทฺวยาตีโต                         (ทฺวยาตฺมาโยนิราตฺมก )          

            หลักฐานจากศิลาจารึก เมืองพิมาย     


คำแปล ด้านที่ ๑

            โศลกที่ ๑ ขอความนอบน้อมจงมีแด่พระพุทธเจ้า ผู้มีนิรมาณกาย ธรรมกาย และสัมโภคกาย ผู้ล่วงพ้นภาวะและอภาวะทั้งสอง ผู้มีอาตมันเป็นสอง และผู้หาอาตมันมิได้

            จารึก ๔ หลัก ดังกล่าว ได้แก่

            ๑.จารึกปราสาท                       พบที่  อ.ปราสาท จ.สุรินทร์

            ๒.จารึกด่านประคำ                 พบที่  อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์

            ๓.จารึกพิมาย                           พบที่  อ.พิมาย จ.นครราชสีมา

            ๔.จารึกประสาทตาเมียนโตจ  พบที่ ประสาทตาเมียนโตจ จ.สุรินทร์

            (รายละเอียดฉบับสมบูรณ์ของจารึก ๔ หลัก ดูได้ที่ภาคผนวกหน้า ผ๑๔๒-ผ๑๕๒)

            นอกจากนี้ยังมีหลักฐานศิลาจารึก ที่พบคำว่าธรรมกายอีก คือ ศิลาจารึกปราสาทพระขรรค์ และหลักศิลาจารึกพระธรรมกาย ดังราย-ละเอียดต่อไปนี้

หลักฐานจากศิลาจารึกปราสาทพระขรรค์

            ๑.สมฺภารวิสฺตรวิภาวิตธรฺมกาย

               สมฺโภคนิรฺมฺมิติวปุรฺภควานฺวิภกฺต:

คำแปล

โศลกที่  ๑        พระผู้มีพระภาค  ผู้ประกอบด้วยพระธรรมกาย  อัน

                        พระองค์ยังให้เกิดขึ้นแล้วอย่างเลิศ ด้วยการสั่งสม

                        (บุญบารมี) ทั้งสัมโภคกาย (และ) นิรมาณกาย



หลักฐานจาก"หลักศิลาจารึกพระธรรมกาย"


            ศิลาจารึกนี้เป็นหินชนวนสีเขียวเป็นจารึกเก่าแก่จารึก เมื่อ ปี   พ.ศ.๒๐๙๒๖ นายคุ้มขุดพบได้จากพระเจดีย์วัดเสือ ฝั่งตะวันออกของเมืองพิษณุโลก ปัจจุบันอยู่ที่แผนกหนังสือตัวเขียนและจารึกกองหอสมุดแห่งชาติกรมศิลปากร  (ดูรายละเอียดศิลาจารึกฉบับสมบูรณ์ที่ภาคผนวกหน้า ผ๑๕๓-ผ๑๕๘)

            ความว่า

            ...สพฺพญฺญุตญาณปวรสีลํ        สพฺพญฺญุตาณ ปวรสีลํ

            นิพฺพานารมฺมณํปวรวิลสิ         นิพฺพานารมฺมณ ปวรวิลสิ-

            ตเกส  จตูถชานาปวร               ตเกสํ  จตุตฺถชฺฌานปวร-

            ลลาต  วชฺชิรสมาปตฺติ             ลลาฏํ  วชิรสมาปตฺติ-

            ปวรอุ...                                                ปวรอุ...

            ...อิมํ   ธมฺมกายพุทฺธลกฺขณํ โยคาวจรกุลปุตฺเตน ติกฺขาเณน

                สพฺพญฺญุพุทฺธภาวํ ปตฺเถนฺเตน ปุนปฺปุนํ อนุสฺสริตพฺพํฯ

คำแปล

            ...พระพุทธลักษณะคือ พระธรรมกาย มีพระเศียรอันประเสริฐ คือพระสัพพัญญุตญาณ มีพระเกศางามประเสริฐ คือพระนิพพานอันเป็นอารมณ์แห่งผลสมาบัติ มีพระนลาฏอันประเสริฐคือจตุตถฌาน มีพระ-อุณาโลมอันประเสริฐ ประกอบด้วยพระรัศมี คือพระปัญญาในมหาวชิรสมบัติ...

            ...พระพุทธลักษณะคือพระธรรมกายนี้  อันโยคาวจรกุลบุตรผู้มีญาณอันกล้า เมื่อปรารถนาซึ่งภาวะแห่งตนเป็นสัพพัญญูพุทธเจ้าพึงระลึกเนืองๆ ฯ

            นอกจากนี้ก็ยังมีหลักฐานในศิลาจารึกอีกหลายแห่ง ที่หยิบยกขึ้นมานี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ศิลาจารึกที่ปราสาทพระขรรค์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ข้อความในศิลาจารึกจะถอดออกมาเป็นอักษรโรมัน จากนั้นจึงถอดออกมาเป็นอักษรไทย โดยนายชูศักดิ์ ทิพย์เกษร เป็นที่น่าสังเกตว่า บรรพบุรุษของไทยเราแต่โบราณก็มีการศึกษาในเรื่อง    ธรรมกายอยู่ไม่ใช่น้อย และมีความเข้าใจในลัทธิตรีกายของมหายานอย่างมั่นคงทีเดียว ความเชื่อเช่นนี้ ฝังลึกอยู่ในจิตใจของคนในยุคสมัยเดิมบนแผ่นดินไทยนี้มานาน จนกระทั่งได้มีการจารึกตัวอักษรลงในศิลาจารึก เหลือไว้เป็นหลักฐานให้คนรุ่นหลังได้มาศึกษา แต่การศึกษาของพระสงฆ์ไทยในปัจจุบันมุ่งเรียนเฉพาะบาลี โดยที่ไม่มีผู้สืบเสาะค้นคว้าเพื่อเปรียบเทียบกับคัมภีร์โบราณต่างๆ ทั่วไป คนไทยนั้นไม่ค่อยสนใจคัมภีร์โบราณเท่าใดนัก คัมภีร์ส่วนใหญ่จึงถูกทำลายไป บางครั้งก็ถูกนำไปเผาทิ้ง หรือไม่ก็ถูกภัยธรรมชาติทำลาย


ธรรมกาย ในจารึกลานทอง



            ในปี พ.ศ.๒๕๓๑ กรมศิลปากรได้ดำเนินการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร เพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อม ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในมหามงคลสมัยพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ รอบ

            ขณะที่บูรณะปฏิสังขรณ์พระมหาเจดีย์ศรีสรรเพชดาญาณประจำรัชกาลที่ ๑ และพระมหาเจดีย์มุนีบัตบริขารประจำรัชกาลที่ ๓ เมื่อวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๓๑ เวลาประมาณ ๐๘.๑๕ น. ช่างกำลังสกัดผิวกระเบื้องเคลือบชั้นนอกขององค์พระมหาเจดีย์ทั้งสองพบว่า บริเวณใกล้หอระฆังด้านทิศเหนือ มีโพรงลึกเข้าไปในองค์พระมหาเจดีย์ ซึ่งภายในนั้นมีห้องกรุบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ โบราณวัตถุล้ำค่าต่างๆ พระพุทธรูป และจารึกลานทองเกี่ยวกับพระธรรมคำสอนในพระพุทธ-ศาสนา

            จารึกลานทองนี้ จารึกด้วยอักษรขอมเป็นภาษาบาลีและภาษาไทย หนึ่งในนั้นมีเรื่อง"พระ-ธรรมกาย  อยู่ด้วย โดยคำแปลซึ่งนายเทิม มีเต็ม เป็นผู้จำลองอักษรจารึก อ่าน ถ่ายทอดอักษร และนายเกษียร มะปะโม เป็นผู้เรียงคำจารึกใหม่ แปลและอธิบายศัพท์ มีราย-ละเอียดดังนี้

             ขอความนอบน้อม  จงมีแด่พระรัตนตรัย เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงเกิดมีสังขาร เพราะสังขารเป็นปัจจัยจึงเกิดมีวิญญาณ เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย จึงเกิดมีนามรูป เพราะนามรูปเป็นปัจจัย จึงเกิดมีอายตนะ ๖  เพราะอายตนะ ๖ เป็นปัจจัยจึงเกิดมีผัสสะ เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงเกิดมีเวทนา เพราะ   เวทนาเป็นปัจจัย จึงเกิดมีตัณหา  เพราะตัณหาเป็นปัจจัย จึงเกิดมี  อุปาทาน  เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จึงเกิดมีภพ เพราะภพเป็นปัจจัย จึงเกิดมีชาติ  เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงเกิดมีชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์โทมนัส และอุปายาสะ เป็นอันว่ากองทุกข์ทั้งมวลนั้น เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัยดังกล่าว

            อีกส่วนหนึ่งเพราะอวิชชาดับสนิทไม่เหลือ ปราศจากราคะ คือ ความกำหนัด สังขารจึงดับ เพราะสังขารดับวิญญาณจึงดับ เพราะวิญญาณดับนามรูปจึงดับ เพราะนามรูปดับอายตนะ ๖ จึงดับ เพราะอายตนะ ๖ ดับผัสสะจึงดับ เพราะผัสสะดับเวทนาจึงดับ  เพราะเวทนา ดับตัณหาจึงดับ เพราะตัณหาดับอุปาทานจึงดับ เพราะอุปาทานดับภพจึงดับ เพราะภพดับชาติจึงดับ เพราะชาติดับชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสะจึงดับ เป็นอันว่ากองทุกข์ทั้งมวลล้วนดับตามเหตุปัจจัยดังกล่าว

            เราเที่ยวแสวงหานายช่างทำบ้านเรือน(ตัณหา) เมื่อไม่พบ จึงต้องท่องเที่ยวไปในสงสารหลายชาติไม่น้อย ชาติ (ความเกิด) บ่อยๆ นำทุกข์มาให้ นายช่างเอ๋ย (บัดนี้) เราได้พบท่านแล้ว ท่านจักสร้างบ้านเรือนต่อไปอีกไม่ได้ เพราะเราได้หักทำลายรื้อโครงและยอดบ้านเรือนของท่านกระจัดกระจายหมดสิ้นแล้ว จิตของเราหมดกิเลสเครื่องปรุงแต่งแล้ว เราได้บรรลุธรรมเป็นที่สิ้นตัณหาแล้ว

            พระเศียรหมายถึงพระสัพพัญญุตญาณ พระเกศาหมายถึงอารมณ์ พระนิพพาน พระ-ลลาตหรือพระ- นลาฏหมายถึงจตุ-ตถฌาณ พระอุณา- โลมหมายถึงสมาบัติ- ญาณเพชร พระภมู (พระขนง) ทั้งสองหมายถึงนีลกสิณ พระจักษุทั้งสองหมายถึงทิพพจักษุปัญญา จักษุสมันตจักษุ พุทธจักษุ และธรรมจักษุ พระโสตทั้งสอง หมายถึงทิพพโสตญาณ พระฆานะหมายถึงโคตรภูญาณ พระปรางทั้งสองหมายถึงมรรคญาณผลญาณและวิมุตติญาณ พระทนต์หมายถึงโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ พระเขี้ยวแก้วทั้ง ๔ หมายถึงมรรคญาณ ๔ พระศอหมายถึงสัจจญาณ ๔ การเอี้ยวพระศอทอดพระเนตรดูหมายถึงพระไตรลักษณญาณ พระพาหาทั้ง ๒ หมายถึง เวสารัชญาณ ๔ พระองคุลีทั้ง ๘ (มีเชิงอรรถอธิบายว่าพระองคุลีทั้ง ๘ น่าจะเป็น ๑๐ แต่ในจารึกใช้ว่า"อฏฐองฺคุลี  จึงแปลว่า"พระองคุลีทั้ง ๘   หมายถึง อนุสสติญาณ ๑๐ พระอุระ หมายถึงสัมโพชฌงค์ ๗ พระถันทั้ง ๒ หมายถึง     อาสยานุสยญาณ พระอวัยวะส่วนกลางหมายถึงพลญาณ ๑๐ พระนาภี หมายถึงปฏิจจสมุปบาท พระชฆนะหมายถึงอินทรีย์ ๕ พละ ๕ พระ-อุรุทั้ง ๒ หมายถึงสัมมัปปธาน ๔ พระชงฆ์ทั้ง ๒ หมายถึงกุศลกรรมบถ ๑๐ พระบาททั้ง ๒ หมายถึงอิทธิบาท ๔ สังฆาฏิ (ผ้าสำหรับห่มซ้อน) หมายถึงศีลและสมาธิ จีวรสำหรับห่มปกปิดกล่าวคือ ผ้าบังสุกุล หมายถึง หิริและโอตตัปปะ  ผ้าอันตรวาสก (ผ้าสำหรับนุ่ง) หมายถึงมรรค ๘ ประคตเอว หมายถึงสติปัฏฐาน ๔

            เพราะสาเหตุที่พระพุทธเจ้าทรงมีพระอวัยวะทุกส่วนสูงสุด ประกอบด้วยสัพพัญญุตญาณ ที่รู้กันว่าพระธรรมกาย ไม่มีใครจะเป็นผู้นำชาวโลกได้เท่า ทรงรุ่งโรจน์กว่าเทวดาและมนุษย์เหล่าอื่น (ดังนั้น) พระโย-คาวจรผู้มีญาณแก่กล้า เมื่อปรารถนาจะเป็นพระสัพพัญญูพุทธเจ้า พึงระลึกถึงบ่อยๆ  ซึ่งพุทธลักษณะคือ พระธรรมกายว่า พระพุทธเจ้า (พระองค์ใด) ทรงมีพระวรกายสูง ๑๒ ศอก มีพระมงกุฏ (เครื่องประดับศีรษะ) ที่มีแสงสว่างดุจเปลวไฟพุ่งสูงขึ้นไปตลอดกาลเป็นนิจถึง ๖ ศอก พระพุทธเจ้าพระองค์นั้นจึงชื่อว่าสูงได้ ๑๘ ศอก 

            จะเห็นได้ว่า ในจารึกลานทอง ที่มีการกล่าวถึงเรื่องธรรมกาย มีข้อความส่วนหนึ่งคล้ายคลึงกับในศิลาจารึกเรื่องพระธรรมกาย หลักที่ ๕๔ สมัยกรุงสุโขทัย ดังที่นำเสนอไปแล้ว อีกทั้งยังมีข้อความเหมือนในบทสวดมนต์ บทธัมมกายานุสสติกถา ซึ่งสมัยรัชกาลที่ ๒ ทรงให้แปล แล้วมีการรวบรวมจัดพิมพ์เป็นบทสวดมนต์ของหอพระสมุดวชิรญาณ จึงมีความเป็นไปได้ว่า คำว่า ธรรมกายมีการสั่งสอนสืบทอดจากสมัยสุโขทัยมาสู่สมัยรัตนโกสินทร์ จนมามีการขุดค้นพบจารึกลานทอง ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ในสมัยรัชกาลที่ ๙

            สำหรับต้นฉบับจารึกลานทองนี้ ปัจจุบันจัดตั้งแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์ 
วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น