วันอังคารที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2559

ราชโอรสในรัชกาลที่ ๔ ทรงพระนิพนธ์เรื่องธรรมกาย



            ในสมัยรัชกาลที่ ๔ เป็นยุคที่มีความเจริญรุ่งเรืองทางพระพุทธศาสนาอย่างมาก พระองค์ทรงให้ตั้งนิกายธรรมยุติขึ้น เป็น การกระตุ้นให้คณะสงฆ์ในยุคนั้นเกิดความเคร่งครัดในพระธรรมวินัยขึ้นมาก รัชกาลที่ ๔ ทรงมีพระราชโอรสพระองค์หนึ่ง มีพระนามว่า พระเจ้า-บรมวงศ์เธอ กรมหมื่นวิวิธวรรณปรีชา เมื่อทรงพระเยาว์ได้ศึกษาภาษาอังกฤษในห้องเรียนเดียวกับกรมพระยาวชิรญาณวโรรส๑ ในปี ๒๔๑๖ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นวิวิธ-วรรณปรีชา ทรงผนวชเป็นสามเณร โดยมีสมเด็จกรมพระยาปวเรศวชิรยาลงกรณ์๒ เป็นพระอุปัชฌาย์ และมีสมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทว)  เป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ ๙ สมัยรัชกาลที่ ๕) เป็นผู้ถวายศีลให้ และในปี ๒๔๒๓ พระองค์ก็ทรงผนวชเป็นพระภิกษุอีกเป็นเวลา ๑ ปี

            จากข้อความข้างต้น จะพบว่า พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นวิวิธวรรณปรีชา ได้ศึกษาความรู้ทางพระพุทธศาสนาจากครูบาอาจารย์ ที่เป็นสมเด็จพระสังฆราชถึง ๓ พระองค์ ท่านได้ทรงพระนิพนธ์หนังสือที่มีชื่อว่า แก่นไตรภพ เพ็ชรในหิน วิวิธธัมโมทัย มฤตยูกถา หรือมรณานุสสร ซึ่งมีรายละเอียดที่น่าศึกษาเกี่ยวกับเรื่องธรรมกาย     ดังนี้ (ดูฉบับสมบูรณ์ได้ที่ภาคผนวก หน้า ผ๒๑๕-ผ๒๓๓)

            ๑.ในเรื่อง แก่นไตรภพ เป็นคำ ปุจฉาวิสัชนา  เรื่องกายและใจ พระองค์ชอบในการแต่งบทประพันธ์เป็นอันมาก ได้ทรงประพันธ์โคลง สุภาษิต แซกแก่นไตรภพ บทที่ ๕๔-๕๕ โดยได้เอ่ยอ้างถึงคุณสมบัติของธรรมกาย โดยตั้งชื่อว่าบทธรรมกายอาทิพุทธ ดังนี้  (หน้า๕๓)


            ๕๔ อ้าธรรมิสเรศวร์เรื้อง                     ไตรรัตน์

            เป็นเอกเป็นตรีชัด                                เดชล้น

            รักษานิกรสัตว์                                     เสพสุข  สวัสดิ์แฮ

            ที่พึ่งสูงสุดพ้น                                      ทั่วทั้งสงสาร


            ๕๕  เป็นประธานแก่สัตว์สิ้น              ทั้งหลาย

            ทุกชีพดุจภาคกาย                                หนึ่งแท้

            เป็นอยู่ไม่รู้ตาย                         ตลอดนิต  ยกาลนา

            โดยเดชธรรมกายแล้                            โลกเลี้ยงนับถือ

หน้า (๕๖)       

            ๖๔  เพิ่มพูนความเรียบร้อย                  สามัคคี

            ทั้งพิภพราตรี                                       แหล่งหล้า

            ไม่มากไม่น้อยมี                                   ส่วนเท่า กันนา

            เพราะฤทธิ์ธรรมกายอ้า                        เอกลํ้าเลิศคุณ

            ๒.ในเรื่อง เพ็ชรในหิน กล่าวถึงเรื่องสภาวะจิต ที่จะไปนิพพานได้ (หน้า ๑๐๐-๑๐๑) ข้อ ๓๖

             ...ผู้ปฏิบัติจะต้องอาศัยศรัทธาความเชื่อก่อน  ถ้าไม่เชื่อแล้วก็ไม่มีหนทางที่จะถึงนฤพานได้ แต่เมื่อทำจิตให้เชื่อนฤพานมีจริง เมื่อประกอบสติวิริยสมาธิแลปัญญาต่อไป จนถึงวิมุติและวิมุติญาณทัสนะเป็นที่สุดได้รู้เห็นถึงพระนฤพานได้สมตามปรารถนา...  แสดงว่าพระองค์ เชื่อว่า นฤพานมีจริง สามารถไปถึงได้

            ๓.วิวิธธัมโมทัย เป็นเรื่องที่กล่าวถึงเรื่องของจิตต์ เรื่องของกาย ซึ่งในเรื่องวิวิธธัมโมทัย พระองค์ได้กล่าวถึงธรรม-กายไว้ชัดเจนมาก ดังนี้

            พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นวิวิธวรรณปรีชา ได้กล่าวถึงคำว่าธรรมกายไว้ในหลายนัยใน
ไตรพิธกายหน้า ๒๑๔-๒๑๗ ความว่า  คนเรามีกายสามชั้น  คือ

            ๑.สรีรกาย กายที่แลเห็น ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย

            ๒.ทิพยกาย คือ กาย ที่เป็นความรู้สึกภายใน ผันแปรไปตาม  กุสลากุศลธรรม แต่ไม่แก่ ไม่ไข้ 
แลไม่ตาย

            ๓.ธรรมกาย คือ กายที่เที่ยง ถาวร ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ไข้ ไม่ตาย  เพราะเป็นชาติอมตธรรม

            นอกจากนี้ท่านยังได้กล่าวถึงในตรีพิธกายว่า สัตว์ทั้งหลายมีกายสามชั้น  ในหน้า ๒๓๖-๒๓๗

ความว่า           ๑.รูปกาย  เป็นเปลือกชั้นนอก

                        ๒.นามกาย  เป็นเปลือกชั้นใน 

                        ๓.ธรรมกาย  เป็นแก่น   ไม่เกิด ไม่ตาย ไม่ผันแปร

            รูปกายย่อมเกิดและตาย  นามกายย่อมผันแปร  ธรรมกาย ไม่เกิด ไม่ตาย และไม่ผันแปร  
เป็นอยู่ตลอดกาลทุกเมื่อ

            หน้า ๒๓๖-๒๔๒ มีใจความว่า"ผู้ใดรู้เห็นแต่รูปกาย ก็เป็นแต่รูปกายเท่านั้น  ผู้ใดรู้เห็นถึงนามกาย ก็อาจเป็นนามกายก็ได้ แต่ต้องละทิ้งรูปกายเสียด้วย  ผู้ใดรู้เห็นธรรมกาย ผู้นั้นก็อาจเป็นธรรมกายได้  แต่ต้องละทิ้งกายอื่นๆ เสียให้หมดจึงจะเป็นธรรมกายแท้ เพราะธรรมกายเป็นธรรมชาติ  ไม่รู้จักตาย

            จากบทสรุปข้างต้น แสดงว่า พระองค์เชื่อว่าธรรมกาย เป็นแก่น เป็นกายที่เที่ยงแท้ เป็นอมตะ

            ๔.มฤตยูกถา หรือ มรณานุสสร เป็นเรื่องที่กล่าวถึงว่า คนเราตายแล้วไม่สูญ  อาจจะไปสุขคติ หรือ ทุคคติก็ได้ หน้า ๒๘๒ ความว่า  ...เมื่อทิพกายพรากออกจากสรีระกายแล้ว สรีระกายหรือกายเนื้อนั้น แม้จะมีอวัยวะครบถ้วน ก็ไม่สามารถรู้สึกและเห็นหรือได้ยินหรือไหวเคลื่อนตัวเองได้ 
จะมีอาการไม่ผิดอันใด กับก้อนดินหรือท่อนไม้  อาการตายก็คือทิพกายกับสรีระกายพรากจากกันนั่นเอง....

            หน้า ๒๘๖  ความว่า  ...ผู้ที่ไปสู่โลกทิพใหม่ จะรู้สึกตนเป็นสุขสำราญใจยิ่งนัก เพราะจะได้พบปะกับบุทคลที่คุ้นเคยรักใคร่กันมาแต่ก่อน...

            หน้า ๒๘๙ ความว่า  ...ฝ่ายผู้ที่อบรมสันดานด้วยบาปกรรมอันลามกนั้นเล่า ก็เท่ากับเป็นสัตว์นรกเสียแต่ยังเป็นมนุษย์แล้ว เมื่อสิ้นชีพละโลกนี้ไป ก็จะเข้าถึงนิรยโลกโดยตรงเช่นเดียวกัน...

            แสดงว่า พระองค์ทรงเชื่อเรื่องว่า มนุษย์เราตายแล้วไม่สูญ ถ้ากายทิพหลุดออกจากสรีระกาย 
ชีวิตก็ไม่สามารถดำรงอยู่ได้ นั่นหมายถึงมนุษย์เราไม่ใช่มีเพียงกายเดียว แต่มีกายภายในคือ ทิพกาย 
ซึ่งเรามองไม่เห็นด้วยตาเปล่า และผู้ตายสามารถไปสู่โลกทิพ หรือไปสู่นิรยโลกได้ ขึ้นอยู่กับบุญบาป
ที่ทำมา สมัยเมื่อเป็นมนุษย์

            จากหลักฐานที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นวิวิธวรรณปรีชา ได้กล่าวชัดเจนในเรื่องธรรมกาย 
มีผู้ตั้งสมุฏฐานว่าพระองค์ อาจจะได้เรียนเรื่องธรรมกาย จากหนังสือพระปฐมสมโพธิที่เรียบเรียงโดยสมเด็จพระสังฆราช (ปุสฺสเทว) และรวบรวมโดย สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส เพราะในหนังสือพระปฐมสมโพธิมีการกล่าวถึงคำว่าธรรมกาย (ดูรายละเอียดในเรื่องธรรมกายในปฐมสมโพธิ ภาคผนวก หน้า ผ๑๒๐-ผ๑๓๙)  หรือพระองค์อาจจะลงมือปฏิบัติกัมมัฏฐาน จนรู้เห็นจริงว่ามีธรรมกาย ในตัวตนจึงได้ประพันธ์เขียนเรื่องเกี่ยวกับธรรมกาย ออกมาค่อนข้างชัดเจน แจ่มแจ้ง


ธรรมกาย ในหนังสือสมถวิปัสสนาแบบโบราณ



            การศึกษาหนังสือสมถวิปัสสนาแบบโบราณ  ซึ่งพระมหาโชติ-ปญฺโญ (ใจ  ยโสธรรัตน์)  
วัดบรมนิวาส  รวบรวมในปี พ.ศ.๒๔๗๙ จำนวน  ๕๓๔ หน้า หนังสือสมถวิปัสสนาแบบโบราณ 
ว่าด้วยสมถ แลวิปัสสนากัมมัฏฐาน ๔ ยุค  คือ กรุงศรีสัตตนาคณหุตฯ (เวียงจันทร์) กรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์ มีอยู่วิธีหนึ่งชื่อว่า"แบบขึ้นกัมมัฏฐาน ห้องพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ  ซึ่งได้ต้นฉบับมาจากวัดประดู่โรงธรรม  กรุงศรีอยุธยา(กรุงเก่า)  โดยมีบันทึกว่า เป็นแบบที่สืบเนื่องมาจากท่านทิสาปาโมกขาจารย์ ๕๖ องค์ แต่ครั้งโบราณฯ  ได้ประชุมกันจารึกไว้ เมื่อประมาณพุทธศักราช ๕๗๒

            การปฏิบัติแบบโบราณ ได้พูดถึงวิธีการปฏิบัติวิปัสสนา บอกตั้งแต่การสวดมนต์ทำวัตร  
การท่องคำภาวนา  การกำหนดนิมิต การวางใจตามฐานต่างๆ ภายในตัว รวมทั้งความเปลี่ยนแปลงของสภาวะจิตที่จะเกิดขึ้น จนถึงสภาวะธรรมที่เที่ยงแท้เป็นอมตะ คือการเจริญวิปัสสนาญาณ เพื่อให้ถึงธรรมกาย และยังกล่าวต่อไปอีกว่าเป็นที่พึ่งอันยอดเยี่ยม มีราย-ละเอียดดังนี้ 
(ฉบับสมบูรณ์ดูได้จากภาคผนวกหน้า ผ๑๕๙-ผ๑๙๔)

แบบสมถวิปัสสนา
  
กัมมัฏฐานมัคคปาลีมุต

แบบสมเด็จพระสังฆราช ไก่เถื่อน

หน้า ๓๒๑-๓๒๕ จะกล่าวถึงว่า

    "ก่อนลงมือปฏิบัติสมถวิปัสสนา กัมมัฎฐาน ต้องทำวัตรพระ ขอ    อาราธนา พระพุทธ พระธรรม พระ-สงฆ์ เป็นที่พึ่ง ขอขมาลาโทษต่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์  แล้วจึงลงมือนั่ง 
ในขณะนั่งให้ภาวนา

                                     อิติปิโส  ภควา  ฯลฯ  พุทโธ  ภควาติ

                                    สมฺมาอรหํ  สมฺมาอรหํ  สมฺมาอรหํ 

                                    อรหํ  อรหํ  อรหํ



            หน้า ๓๒๘  กล่าวต่อไปถึงการเข้าถึงกายรูปร่างทรงเครื่องมงกุฎสร้อยสังวาลย์ดังนี้

             ...ข้าจะภาวนาพระพุทธคุณเจ้า  เพื่อจะขอเอายังพระลักษณะ  พระกายสุขจิตต์สุขเจ้านี้จงได้  
ขอพระพุทธเจ้าจงมาเป็นที่พึ่งแก่ข้าพเจ้านี้เถิด ฯลฯ  เพื่อจะขอเอายังพระลักษณ์ พระกายสุขจิตต์สุขนี้
จงได้ ขอจงเจ้ากู ฯลฯ ภาวนาอยู่นี้เถิด

            ได้สุขเหมือนนั่งใต้ต้นไม้  ต้องลมริ้วๆ สบายริ้วๆ มาเป็นที่พึ่งแก่ข้านี้เถิด  ปรากฏเห็นรูปร่างตนเอง  ทรงเครื่องมงกุฎสร้อยสังวาลย์ ชื่นชมยินดีสบาย

            ข้าจะขอภาวนาพระพุทธเจ้า  เพื่อจะขอเอายังพระลักษณะพระ-อุปจารสมาธิ  พุทธานุสสติเจ้านี้จงได้  ขอพระพุทธเจ้าจงมาเป็นที่พึ่งแก่ข้าพเจ้านี้เถิด ฯลฯ เพื่อจะขอเอายังพระอุปจารสมาธิพระพุทธานุส-สติเจ้าจงได้  ขอจงเจ้ากู ฯลฯ  ภาวนาอยู่นี้เถิด

            ปรากฏเห็นรูปร่างตนเอง  ทรงเครื่องมงกุฎสร้อยสังวาลย์ชื่นชมยินดีสบาย...

            การปฏิบัติสมถวิปัสสนาแบบโบราณ โดยใช้อาณาปานัสสติให้ปฏิบัติดังนี้ (หน้า ๓๒๙ - ๓๓๐)

             ...ภาวนา ๑,,,,๕  ตั้งต้นในจงอยปาก เห็นลมหายใจและภาวนา ๑,,,,๕ ปรากฏฝอยเหมือนไฟ ๑ ควันหม้อ ๑  เหมือนนุ่น ๑ แล้วปรากฏเห็นดวงดาวดวงหนึ่ง แล้วปรากฏเห็นพระจันทร์ซีกหนึ่ง  แล้วเป็นพระจันทร์ทั้งดวง  และภาวนาไปแล้วเห็นปรากฏเป็นพระอาทิตย์ซีกหนึ่ง  แล้วปรากฏเป็นพระอาทิตย์ทั้งดวง  แล้วภาวนาให้ปรากฏเห็นดวงดาวดวงหนึ่ง แล้วส่งไปและพาเข้ามา  แล้วปรากฏเห็นพระจันทร์ซีกหนึ่ง แล้วส่งไปและพาเข้ามา แล้วเห็นพระจันทร์ทั้งดวง  ส่งไปและพาเข้ามา  แล้วปรากฏเห็นพระอาทิตย์ซีกหนึ่ง  ส่งไปและพาเข้ามา  แล้วเห็นพระอาทิตย์ทั้งดวง  ส่งไปและพาเข้ามาไว้  
และตั้งในกลางจมูกเห็นหมู่ญาติ  มนุษย์และสัตว์เดียรัจฉาน  ตั้งใน  หว่างคิ้ว  เห็นเทวดาทั้งหลาย  
และตั้งเพดานข้างใน  วัดลงไปเท่าแม่มือ  ตั้งลิ้นไก่ข้างในวัดลงไป  ตั้งดวงหทัยวัดลงไปถึงนาภี  
แล้ววัดขึ้นมานาภี  ต้นลมหทัยกลาง  ลมนาสิก  ปลายลมปราณ  ลมข้าวเปลือก  ลมข้าวเบา ขวั้นตาล

(จบอานาปา)...

            แบบขึ้นพระกัมมัฏฐาน  ห้องพระพุทธคุณ  ห้องพระ-ธรรมคุณ  ห้องพระสังฆคุณ  ได้ต้นฉบับมาจากวัดประดู่โรงธรรม, กรุงศรีอยุธยา (กรุงเก่า)  พระ-อาจารย์กล่าวไว้ว่า  เป็นแบบที่สืบ เนื่องมาจากท่านทิสาปาโมกขา-จารย์ ๕๖ องค์ สืบต่อมาแต่ พระพุทธศักราชล่วงไป ๕๗๒ พรรษา ปีมะเมีย สัมฤทธิ์ศก ซึ่งมีใจความสำคัญเกี่ยวกับธรรมกายดังนี้

            หน้า ๓๕๒

            ห้องพระพุทธคุณ  กล่าวว่าเมื่อจิตต์เป็นสุขให้ดูธรรมกายในรูปกาย ดังความว่า
"...เมื่อกายเป็นสุขแล้ว จิตต์เป็นสุขแล้ว จึงตั้งจิตต์ พิจารณาดูธรรมกายในรูปกายด้วยการดำเนินในโพชฌงค์ทั้ง ๗ ประการ จนจิตต์รู้แจ้งแทงตลอดในรูปธรรมและนามธรรมได้แล้ว จักมีตนเป็นที่พึ่ง 
จักมีธรรมเป็นที่พึ่ง ด้วยประการฉะนี้...

            หน้า ๓๖๑ - ๓๖๒

            ห้องพระธรรมคุณ ได้กล่าวว่า เมื่อจิตต์บริสุทธิ์ ย่อมเข้าถึงรูปอันเป็นอจินไตย รุ่งเรืองสุกใส 
ดังความว่า"...เมื่อพิจารณาได้ประณีตสุขุมดีแล้ว จะเห็นธรรมอันเอกด้วยจิตต์ จักได้ที่พึ่งอันอุดมสุข 
อันเจ้าตัวจะพึงรู้เองเห็นเอง เพราะว่าผู้มีใจประกอบด้วยสมาธิ  ไม่ประกอบด้วยใจฟุ้งสร้านดำเนินกระแสจิตต์เป็นลำดับ จิตต์ย่อมบรรลุสภาพอันเป็นทิพย์ที่บริสุทธิ์อย่างยิ่ง อันเป็นส่วนสัพพัญญุตญาณ เห็นชัดหยั่งทราบที่สุดในโลก ยั่งยืน เป็นผู้บังคับ และละเอียดที่สุด  แต่บรรดาสิ่งที่ละเอียดด้วยกัน 
เพราะมีรูปเป็น อจินไตย รุ่งเรืองสุกใส ลอยเด่นอยู่ เหนือความมืด คือ อวิชชา...

            หน้า ๓๗๐

            ห้องพระสังฆคุณ ได้กล่าวว่า ธรรมกาย เป็นอมตะ ดังความว่า"...พระโยคาวจรผู้รู้ว่า ธรรมกายดำรงอยู่ในหทัยประเทศ แห่งสรรพภูต ทำให้หมุนดังว่าหุ่นยนต์ ท่านจึงตั้งใจเจริญพระวิปัสสนาญาณ เพื่อให้ถึงธรรมกาย เป็นที่พึ่งอันยอดเยี่ยมโดยสิ้นเชิง ถึงสถานอันสงบระงับประเสริฐเที่ยงแท้ เพราะความอำนวยของธรรมกาย นั้นเป็น"อมตะ  ฯ...

            สำหรับบุรพกิจของกัมมัฏฐานแบบย่อ  แบบที่ ๑ ของเจ้าพระคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ 
(สิริจนฺโท  จันทร์)  อายุ ๗๙ ปี พรรษา ๕๖ ปี เจ้าอาวาสวัดบรมนิวาส (หน้า ๓๗๓ - ๓๗๔) ได้กล่าวถึงวิธีนั่งกัมมัฏฐาน ดังนี้ "...พึงหันหน้าไปทางทิศบูรพา นั่งคู้บัลลังก์ ขัดสมาธิให้วางมือและเท้าข้างขวาทับซ้อนข้างซ้าย ตั้งกายให้ตรง วางสติให้มั่นคงทุกๆ ครั้งที่นั่ง ทั้งกลางวันและกลางคืน ตั้งจิตต์หมายไว้ที่ท้องริมสะดือข้างขวา สูงและห่างจากสะดือ ๓ นิ้ว อย่าให้ตรงศูนย์สะดือ หากว่าจิตต์ที่ตั้งเหนือสะดือ
ไม่อยู่ คงผ่อนลงมาหรือต่ำกว่าเพียง ๑ นิ้วก็ได้ ทำอย่างนี้เพื่อให้เหมาะแก่อารมณ์ของผู้ปฏิบัติ 
แต่ถ้าตั้งอยู่เหนือได้เป็นดี เพราะเหมาะแก่เหตุที่มุ่งหวังเมื่อทำได้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว พึงบริกรรมภาวนาว่า อรหํๆ  หรือจะเลือกบทอื่นๆ ซึ่งเหมาะแก่ใจของตนก็ได้ ให้ทำเสมอไป ผิว่าวาสนามีมาประกอบกรรมก็จะปรากฏขึ้นได้โดยเร็วพลัน...

            แบบที่ ๖ พระกัมมัฏฐาน แบบเดินธาตุในห้องพระเจ้า ๕ พระองค์ (หน้า ๓๙๕ )  ได้กล่าวถึงนิมิตต์ดังนี้ "...เมื่อจิตต์ตั้งเที่ยงแล้วให้ผูกจิตต์กับ อ. ให้ถึงกันด้วยดี ให้ตรงกันด้วยดี ให้รู้กันด้วยดี ให้ถึงกันโดยชอบ จนได้อุคคหนิมิตต์และปฏิภาคนิมิตต์ นิมิตต์นั้นจะเป็นวงกลมก็ตาม เป็นพระพุทธรูปก็ตาม เป็นอย่างเม็ดเพ็ชรรัตน์หรือดวงแก้วก็ตาม ต้องสังเกตกำหนดรักษาไว้ใช้ ทำให้มากเจริญให้มาก ทำให้ชำนาญจนสามารถบังคับนิมิตต์ไว้ในอำนาจได้ จิตต์ได้เครื่องหมาย ได้ที่พัก อย่าติดนิมิตต์...

            สมุฏฐานของลมทำจิตต์ให้เป็นสมาธิ (หน้า ๓๔๘ - ๓๘๖) กล่าวไว้ว่า

            การตั้งฐานของลมทำจิตต์ให้เป็นสมาธินั้น ในหนังสือบอกไว้ถึง ๙ ฐานด้วยกัน คือ

            ๑. กำหนดตั้งที่สะดือ

            ๒. กำหนดตั้งที่เหนือสะดือนอกเนื้อในหนังประมาณ ๓ นิ้ว

            ๓. กำหนดตั้งในเนื้อหัวใจ

            ๔. กำหนดตั้งที่สุดลำคอเป็นสถานที่หลับ

            ๕. กำหนดตั้งที่ปลายนาสิก (ปลายจมูก)

            ๖. กำหนดตั้งที่จักขุ

            ๗. กำหนดตั้งที่ระหว่างคิ้ว

            ๘. กำหนดตั้งบนกระหม่อม

            ๙. กำหนดตั้งที่ท้ายทอย

            จากการศึกษาหนังสือสมถวิปัสสนาแบบโบราณทุกท่านจะเห็นว่า คำว่า ธรรมกายนั้น  สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษชาวไทยนับเป็นเวลาหลายร้อยปี  อาจจะถึงเป็นพันปีก็ว่าได้ แต่กลายมาเป็นของใหม่ของคนยุคนี้ไป ทั้งๆ ที่เป็นมรดกธรรมตกทอดกันมาหลายชั่วอายุคน แต่เนื่องจากระบบการศึกษา
ในปัจจุบันของพระภิกษุสงฆ์ ได้ละเลยคัมภีร์โบราณนี้ ของที่เป็นของโบราณจึงกลายเป็นของใหม่สำหรับสายตาของหลายๆ ท่าน บางท่านก็ไม่เชื่อว่ามีจริงเพราะติดกับตำราที่ตนเองศึกษา โดยมิได้ค้นคว้าและศึกษาว่า แท้ที่จริงตำราต่างๆ ทางพระพุทธศาสนาในปัจจุบันล้วนอ้างอิงมาจากตำราหรือคัมภีร์โบราณทั้งสิ้น

            พระพุทธเจ้าเคยตรัสไว้ในคัมภีร์กาลามสูตรว่า"มา ปิฎกสมาทเปน คือ ไม่เชื่อเพราะยึดติดกับคัมภีร์ทางศาสนา ก็จะถือว่าตัวเองถูก   กว่าจะเป็นคัมภีร์ได้ก็หมายความว่า  ต้องมีขบวนการต่างๆ มากมาย  มีการรวบรวมการเรียบเรียง  ซึ่งอาจจะหมายถึงการตัดทอนและเสริมแต่งในขณะเดียวกันก็ได้  และอาจจะคัดลอกกันมาผิดๆ ติดต่อกันมาเรื่อยจนถึงปัจจุบัน เราต้องไม่ลืมว่าพุทธศาสนานั้นต้องเปลี่ยนแปลงรูปแบบต่อไปเรื่อยๆ  ตามกาลเวลา  การที่จะสรุปว่าของเก่าเป็นอย่างนั้นต้องเข้าใจจริงๆ  ก่อนว่าประวัติการทำการพิจารณาคัมภีร์ศาสนาแต่ละครั้งแต่ละหนนั้น มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง 
ไม่ว่าจะเป็นหลักศิลาจารึก หรือหนังสือพระสมถวิปัสสนาที่ได้รวบรวมคัมภีร์โบราณแล้วพิมพ์ใหม่เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๙ นี้  ก็เป็นตัวอย่างอันดี  และเป็นหลักฐานที่ยืนยันเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรมในอดีตของแผ่นดินไทยของเรา  และเป็นเครื่องพิสูจน์ได้ว่า  เป็นสิ่งซึ่งอยู่คู่กับชาติไทยมานานนับพันปี




ธรรมกาย ในศิลาจารึก



            ศิลาจารึกเป็นหลักฐานที่มีประโยชน์ต่อการศึกษาประวัติศาสตร์โบราณคดี อักษรศาสตร์ 
และภาษาศาสตร์ สะท้อนให้เห็นลักษณะขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมของบุคคลในอดีต โดยเฉพาะเรื่องราวดังกล่าวจะมีหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนา เข้าไปเกี่ยวข้องเสมอ

            ศิลาจารึกพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ นี้ ที่กรมศิลปากรได้มอบหมาย ให้นายชะเอม แก้วคล้าย 
นักภาษาโบราณ กองหอสมุดแห่งชาติ รวบรวมจารึก ๔ หลัก ซึ่งเป็นจารึกภาษาสันสกฤต อักษรขอม มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ซึ่งมีเนื้อหาคล้ายกัน โดยเฉพาะในด้านที่ ๑ มีการกล่าวถึงคำว่า
ธรรมกาย ในโศลกที่ ๑  ความว่า  

            ๑.นโมวุทฺธายนิรฺมฺมาณ            (ธรฺมฺมสามฺโภคมูรฺตฺตเย)
            ๒.ภาวาภาวทฺวยาตีโต                         (ทฺวยาตฺมาโยนิราตฺมก )          

            หลักฐานจากศิลาจารึก เมืองพิมาย     


คำแปล ด้านที่ ๑

            โศลกที่ ๑ ขอความนอบน้อมจงมีแด่พระพุทธเจ้า ผู้มีนิรมาณกาย ธรรมกาย และสัมโภคกาย ผู้ล่วงพ้นภาวะและอภาวะทั้งสอง ผู้มีอาตมันเป็นสอง และผู้หาอาตมันมิได้

            จารึก ๔ หลัก ดังกล่าว ได้แก่

            ๑.จารึกปราสาท                       พบที่  อ.ปราสาท จ.สุรินทร์

            ๒.จารึกด่านประคำ                 พบที่  อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์

            ๓.จารึกพิมาย                           พบที่  อ.พิมาย จ.นครราชสีมา

            ๔.จารึกประสาทตาเมียนโตจ  พบที่ ประสาทตาเมียนโตจ จ.สุรินทร์

            (รายละเอียดฉบับสมบูรณ์ของจารึก ๔ หลัก ดูได้ที่ภาคผนวกหน้า ผ๑๔๒-ผ๑๕๒)

            นอกจากนี้ยังมีหลักฐานศิลาจารึก ที่พบคำว่าธรรมกายอีก คือ ศิลาจารึกปราสาทพระขรรค์ และหลักศิลาจารึกพระธรรมกาย ดังราย-ละเอียดต่อไปนี้

หลักฐานจากศิลาจารึกปราสาทพระขรรค์

            ๑.สมฺภารวิสฺตรวิภาวิตธรฺมกาย

               สมฺโภคนิรฺมฺมิติวปุรฺภควานฺวิภกฺต:

คำแปล

โศลกที่  ๑        พระผู้มีพระภาค  ผู้ประกอบด้วยพระธรรมกาย  อัน

                        พระองค์ยังให้เกิดขึ้นแล้วอย่างเลิศ ด้วยการสั่งสม

                        (บุญบารมี) ทั้งสัมโภคกาย (และ) นิรมาณกาย



หลักฐานจาก"หลักศิลาจารึกพระธรรมกาย"


            ศิลาจารึกนี้เป็นหินชนวนสีเขียวเป็นจารึกเก่าแก่จารึก เมื่อ ปี   พ.ศ.๒๐๙๒๖ นายคุ้มขุดพบได้จากพระเจดีย์วัดเสือ ฝั่งตะวันออกของเมืองพิษณุโลก ปัจจุบันอยู่ที่แผนกหนังสือตัวเขียนและจารึกกองหอสมุดแห่งชาติกรมศิลปากร  (ดูรายละเอียดศิลาจารึกฉบับสมบูรณ์ที่ภาคผนวกหน้า ผ๑๕๓-ผ๑๕๘)

            ความว่า

            ...สพฺพญฺญุตญาณปวรสีลํ        สพฺพญฺญุตาณ ปวรสีลํ

            นิพฺพานารมฺมณํปวรวิลสิ         นิพฺพานารมฺมณ ปวรวิลสิ-

            ตเกส  จตูถชานาปวร               ตเกสํ  จตุตฺถชฺฌานปวร-

            ลลาต  วชฺชิรสมาปตฺติ             ลลาฏํ  วชิรสมาปตฺติ-

            ปวรอุ...                                                ปวรอุ...

            ...อิมํ   ธมฺมกายพุทฺธลกฺขณํ โยคาวจรกุลปุตฺเตน ติกฺขาเณน

                สพฺพญฺญุพุทฺธภาวํ ปตฺเถนฺเตน ปุนปฺปุนํ อนุสฺสริตพฺพํฯ

คำแปล

            ...พระพุทธลักษณะคือ พระธรรมกาย มีพระเศียรอันประเสริฐ คือพระสัพพัญญุตญาณ มีพระเกศางามประเสริฐ คือพระนิพพานอันเป็นอารมณ์แห่งผลสมาบัติ มีพระนลาฏอันประเสริฐคือจตุตถฌาน มีพระ-อุณาโลมอันประเสริฐ ประกอบด้วยพระรัศมี คือพระปัญญาในมหาวชิรสมบัติ...

            ...พระพุทธลักษณะคือพระธรรมกายนี้  อันโยคาวจรกุลบุตรผู้มีญาณอันกล้า เมื่อปรารถนาซึ่งภาวะแห่งตนเป็นสัพพัญญูพุทธเจ้าพึงระลึกเนืองๆ ฯ

            นอกจากนี้ก็ยังมีหลักฐานในศิลาจารึกอีกหลายแห่ง ที่หยิบยกขึ้นมานี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ศิลาจารึกที่ปราสาทพระขรรค์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ข้อความในศิลาจารึกจะถอดออกมาเป็นอักษรโรมัน จากนั้นจึงถอดออกมาเป็นอักษรไทย โดยนายชูศักดิ์ ทิพย์เกษร เป็นที่น่าสังเกตว่า บรรพบุรุษของไทยเราแต่โบราณก็มีการศึกษาในเรื่อง    ธรรมกายอยู่ไม่ใช่น้อย และมีความเข้าใจในลัทธิตรีกายของมหายานอย่างมั่นคงทีเดียว ความเชื่อเช่นนี้ ฝังลึกอยู่ในจิตใจของคนในยุคสมัยเดิมบนแผ่นดินไทยนี้มานาน จนกระทั่งได้มีการจารึกตัวอักษรลงในศิลาจารึก เหลือไว้เป็นหลักฐานให้คนรุ่นหลังได้มาศึกษา แต่การศึกษาของพระสงฆ์ไทยในปัจจุบันมุ่งเรียนเฉพาะบาลี โดยที่ไม่มีผู้สืบเสาะค้นคว้าเพื่อเปรียบเทียบกับคัมภีร์โบราณต่างๆ ทั่วไป คนไทยนั้นไม่ค่อยสนใจคัมภีร์โบราณเท่าใดนัก คัมภีร์ส่วนใหญ่จึงถูกทำลายไป บางครั้งก็ถูกนำไปเผาทิ้ง หรือไม่ก็ถูกภัยธรรมชาติทำลาย


ธรรมกาย ในจารึกลานทอง



            ในปี พ.ศ.๒๕๓๑ กรมศิลปากรได้ดำเนินการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร เพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อม ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในมหามงคลสมัยพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ รอบ

            ขณะที่บูรณะปฏิสังขรณ์พระมหาเจดีย์ศรีสรรเพชดาญาณประจำรัชกาลที่ ๑ และพระมหาเจดีย์มุนีบัตบริขารประจำรัชกาลที่ ๓ เมื่อวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๓๑ เวลาประมาณ ๐๘.๑๕ น. ช่างกำลังสกัดผิวกระเบื้องเคลือบชั้นนอกขององค์พระมหาเจดีย์ทั้งสองพบว่า บริเวณใกล้หอระฆังด้านทิศเหนือ มีโพรงลึกเข้าไปในองค์พระมหาเจดีย์ ซึ่งภายในนั้นมีห้องกรุบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ โบราณวัตถุล้ำค่าต่างๆ พระพุทธรูป และจารึกลานทองเกี่ยวกับพระธรรมคำสอนในพระพุทธ-ศาสนา

            จารึกลานทองนี้ จารึกด้วยอักษรขอมเป็นภาษาบาลีและภาษาไทย หนึ่งในนั้นมีเรื่อง"พระ-ธรรมกาย  อยู่ด้วย โดยคำแปลซึ่งนายเทิม มีเต็ม เป็นผู้จำลองอักษรจารึก อ่าน ถ่ายทอดอักษร และนายเกษียร มะปะโม เป็นผู้เรียงคำจารึกใหม่ แปลและอธิบายศัพท์ มีราย-ละเอียดดังนี้

             ขอความนอบน้อม  จงมีแด่พระรัตนตรัย เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงเกิดมีสังขาร เพราะสังขารเป็นปัจจัยจึงเกิดมีวิญญาณ เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย จึงเกิดมีนามรูป เพราะนามรูปเป็นปัจจัย จึงเกิดมีอายตนะ ๖  เพราะอายตนะ ๖ เป็นปัจจัยจึงเกิดมีผัสสะ เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงเกิดมีเวทนา เพราะ   เวทนาเป็นปัจจัย จึงเกิดมีตัณหา  เพราะตัณหาเป็นปัจจัย จึงเกิดมี  อุปาทาน  เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จึงเกิดมีภพ เพราะภพเป็นปัจจัย จึงเกิดมีชาติ  เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงเกิดมีชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์โทมนัส และอุปายาสะ เป็นอันว่ากองทุกข์ทั้งมวลนั้น เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัยดังกล่าว

            อีกส่วนหนึ่งเพราะอวิชชาดับสนิทไม่เหลือ ปราศจากราคะ คือ ความกำหนัด สังขารจึงดับ เพราะสังขารดับวิญญาณจึงดับ เพราะวิญญาณดับนามรูปจึงดับ เพราะนามรูปดับอายตนะ ๖ จึงดับ เพราะอายตนะ ๖ ดับผัสสะจึงดับ เพราะผัสสะดับเวทนาจึงดับ  เพราะเวทนา ดับตัณหาจึงดับ เพราะตัณหาดับอุปาทานจึงดับ เพราะอุปาทานดับภพจึงดับ เพราะภพดับชาติจึงดับ เพราะชาติดับชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสะจึงดับ เป็นอันว่ากองทุกข์ทั้งมวลล้วนดับตามเหตุปัจจัยดังกล่าว

            เราเที่ยวแสวงหานายช่างทำบ้านเรือน(ตัณหา) เมื่อไม่พบ จึงต้องท่องเที่ยวไปในสงสารหลายชาติไม่น้อย ชาติ (ความเกิด) บ่อยๆ นำทุกข์มาให้ นายช่างเอ๋ย (บัดนี้) เราได้พบท่านแล้ว ท่านจักสร้างบ้านเรือนต่อไปอีกไม่ได้ เพราะเราได้หักทำลายรื้อโครงและยอดบ้านเรือนของท่านกระจัดกระจายหมดสิ้นแล้ว จิตของเราหมดกิเลสเครื่องปรุงแต่งแล้ว เราได้บรรลุธรรมเป็นที่สิ้นตัณหาแล้ว

            พระเศียรหมายถึงพระสัพพัญญุตญาณ พระเกศาหมายถึงอารมณ์ พระนิพพาน พระ-ลลาตหรือพระ- นลาฏหมายถึงจตุ-ตถฌาณ พระอุณา- โลมหมายถึงสมาบัติ- ญาณเพชร พระภมู (พระขนง) ทั้งสองหมายถึงนีลกสิณ พระจักษุทั้งสองหมายถึงทิพพจักษุปัญญา จักษุสมันตจักษุ พุทธจักษุ และธรรมจักษุ พระโสตทั้งสอง หมายถึงทิพพโสตญาณ พระฆานะหมายถึงโคตรภูญาณ พระปรางทั้งสองหมายถึงมรรคญาณผลญาณและวิมุตติญาณ พระทนต์หมายถึงโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ พระเขี้ยวแก้วทั้ง ๔ หมายถึงมรรคญาณ ๔ พระศอหมายถึงสัจจญาณ ๔ การเอี้ยวพระศอทอดพระเนตรดูหมายถึงพระไตรลักษณญาณ พระพาหาทั้ง ๒ หมายถึง เวสารัชญาณ ๔ พระองคุลีทั้ง ๘ (มีเชิงอรรถอธิบายว่าพระองคุลีทั้ง ๘ น่าจะเป็น ๑๐ แต่ในจารึกใช้ว่า"อฏฐองฺคุลี  จึงแปลว่า"พระองคุลีทั้ง ๘   หมายถึง อนุสสติญาณ ๑๐ พระอุระ หมายถึงสัมโพชฌงค์ ๗ พระถันทั้ง ๒ หมายถึง     อาสยานุสยญาณ พระอวัยวะส่วนกลางหมายถึงพลญาณ ๑๐ พระนาภี หมายถึงปฏิจจสมุปบาท พระชฆนะหมายถึงอินทรีย์ ๕ พละ ๕ พระ-อุรุทั้ง ๒ หมายถึงสัมมัปปธาน ๔ พระชงฆ์ทั้ง ๒ หมายถึงกุศลกรรมบถ ๑๐ พระบาททั้ง ๒ หมายถึงอิทธิบาท ๔ สังฆาฏิ (ผ้าสำหรับห่มซ้อน) หมายถึงศีลและสมาธิ จีวรสำหรับห่มปกปิดกล่าวคือ ผ้าบังสุกุล หมายถึง หิริและโอตตัปปะ  ผ้าอันตรวาสก (ผ้าสำหรับนุ่ง) หมายถึงมรรค ๘ ประคตเอว หมายถึงสติปัฏฐาน ๔

            เพราะสาเหตุที่พระพุทธเจ้าทรงมีพระอวัยวะทุกส่วนสูงสุด ประกอบด้วยสัพพัญญุตญาณ ที่รู้กันว่าพระธรรมกาย ไม่มีใครจะเป็นผู้นำชาวโลกได้เท่า ทรงรุ่งโรจน์กว่าเทวดาและมนุษย์เหล่าอื่น (ดังนั้น) พระโย-คาวจรผู้มีญาณแก่กล้า เมื่อปรารถนาจะเป็นพระสัพพัญญูพุทธเจ้า พึงระลึกถึงบ่อยๆ  ซึ่งพุทธลักษณะคือ พระธรรมกายว่า พระพุทธเจ้า (พระองค์ใด) ทรงมีพระวรกายสูง ๑๒ ศอก มีพระมงกุฏ (เครื่องประดับศีรษะ) ที่มีแสงสว่างดุจเปลวไฟพุ่งสูงขึ้นไปตลอดกาลเป็นนิจถึง ๖ ศอก พระพุทธเจ้าพระองค์นั้นจึงชื่อว่าสูงได้ ๑๘ ศอก 

            จะเห็นได้ว่า ในจารึกลานทอง ที่มีการกล่าวถึงเรื่องธรรมกาย มีข้อความส่วนหนึ่งคล้ายคลึงกับในศิลาจารึกเรื่องพระธรรมกาย หลักที่ ๕๔ สมัยกรุงสุโขทัย ดังที่นำเสนอไปแล้ว อีกทั้งยังมีข้อความเหมือนในบทสวดมนต์ บทธัมมกายานุสสติกถา ซึ่งสมัยรัชกาลที่ ๒ ทรงให้แปล แล้วมีการรวบรวมจัดพิมพ์เป็นบทสวดมนต์ของหอพระสมุดวชิรญาณ จึงมีความเป็นไปได้ว่า คำว่า ธรรมกายมีการสั่งสอนสืบทอดจากสมัยสุโขทัยมาสู่สมัยรัตนโกสินทร์ จนมามีการขุดค้นพบจารึกลานทอง ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ในสมัยรัชกาลที่ ๙

            สำหรับต้นฉบับจารึกลานทองนี้ ปัจจุบันจัดตั้งแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์ 
วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร