วันพุธที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2560

หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๑๔)



เรื่อง : พระสุธรรมญาณวิเทศ วิ. (สุธรรม สุธมฺโม) และคณะนักวิจัย DIRI
จากวารสารอยู่ในบุญฉบับเดือนกรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๙
 

      ในฉบับนี้ขอนำบทความเนื้อหาที่ได้เสนอต่อที่ประชุมเสวนาวิชาการมาเล่าสู่กันฟัง

   เนื่องจากผู้เขียนและคณะนักวิจัยของสถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย หรือ DIRI ได้มุ่งมั่นทำงานสืบค้นหลักฐานธรรมกายมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา ๑๖ ปี จนสามารถพบร่องรอยและหลักฐานของธรรมกายทั้งภายในประเทศไทยและต่างประเทศมากมาย แต่สำหรับหัวข้อที่นำเสนอครั้งนี้จะกล่าวถึงเฉพาะหลักฐานธรรมกายที่ค้นพบในประเทศไทยก่อน กล่าวคือพบในโบราณวัตถุอันได้แก่ ศิลาจารึก จารึกลานเงินเอกสารตัวเขียนประเภทสมุดไทย ใบลาน และหลักฐานธรรมกายที่ถูกจารด้วยอักษรเขมรโบราณอักษรขอมไทย อักษรธรรมและอื่น ๆ ทั้งที่เป็นภาษาบาลี ภาษาสันสกฤต และภาษาไทย

   ในชั้นนี้โดยรวมแล้วเราพบหลักฐานธรรมกายในประเทศไทยทั้งหมด ๑๔ ชิ้น แบ่งเป็นศิลาจารึก ๖ หลัก จารึกลานเงิน ๑ ชิ้นคัมภีร์จารึกใบลานหนังสือพับสารวม ๖ คัมภีร์และในรูปแบบหนังสืออีก ๑ เล่ม

    หลักฐานชิ้นแรกที่จะขอกล่าวถึงในที่นี้ คือ ศิลาจารึกทั้ง ๖ หลัก ซึ่งแบ่งเป็นศิลาจารึกภาษาสันสกฤต ๕ หลัก และภาษาบาลีอีก ๑ หลัก

       ในส่วนของภาษาสันสกฤตที่มีจำนวน ๕ หลัก คือ

      ๑. จารึกพิมาย
      ๒. จารึกด่านประคำ
      ๓. จารึกปราสาทตาเมียนโตจ
      ๔. จารึกปราสาทจังหวัดสุรินทร์
      ๕. จารึกสุรินทร์ ๒

  จารึกทั้งหมดนี้สร้างเมื่อพุทธศตวรรษที่ ๑๘ โดยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ (ครองราชย์ในระหว่าง พ.ศ. ๑๗๒๔-๑๗๖๑) และจารึกทั้ง ๕ หลักที่มีเนื้อความเกี่ยวกับธรรมกายนั้นล้วนมีข้อความเหมือนกันทั้ง ๕ หลัก ในรูปของการกล่าวนอบน้อมนมัสการแด่พระพุทธเจ้าผู้มีนิรมานกาย ธรรมกาย และสัมโภคกาย โดยมีข้อความจารึกไว้ว่า “นโม วุทฺธาย นิรฺมฺมาณ ธรฺมฺมสามฺโภคมูรฺตฺตเย”
จารึกเมืองพิมาย นโม วุทฺธาย นิรฺมฺมาณ ธรฺมฺมสามฺโภคมูรฺตฺตเย
จารึกเมืองพิมาย นโม วุทฺธาย นิรฺมฺมาณ
ธรฺมฺมสามฺโภคมูรฺตฺตเย

     สำหรับศิลาจารึกจารด้วยภาษาบาลีภาษาไทย อักษรขอมสุโขทัย คือ ศิลาจารึกพระธรรมกาย (จารึกหลักที่ ๕๔) ตามประวัติจารึกพระธรรมกายเป็นหินชนวนสีเขียว พบในพระเจดีย์วัดเสือ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก ระบุพุทธศักราช ๒๐๙๒ ศาสตราจารย์ฉ่ำ ทองคำวรรณผู้เชี่ยวชาญการอ่านและเขียนอักษรโบราณ ได้ตรวจสอบกับข้อความในหนังสือพระธรรมกายาทิ พบว่าเนื้อหาตรงกับเรื่องพระธรรมกาย นับเป็นหลักฐานธรรมกายชิ้นที่ ๖

     ในส่วนหลักฐานธรรมกายอีก ๘ ชิ้น มีทั้งที่เป็นภาษาบาลี และภาษาไทย จารด้วยอักษรขอมไทยอักษรธรรมล้านนา

     ทั้งนี้จะขอเริ่มต้นด้วยหลักฐานชิ้นที่ ๗ “คัมภีร์อุปปาตสันติ” ซึ่งเป็นวรรณกรรมบาลีแห่งอาณาจักรล้านนา แต่งขึ้นในลักษณะฉันทลักษณ์ในพุทธศตวรรษที่ ๒๐ โดย พระมหามังคลสีลวังสเถระแห่งเมืองเชียงใหม่
 
จารึกพระธรรมกาย พ.ศ. ๒๐๙๒
จารึกพระธรรมกาย พ.ศ. ๒๐๙๒

       มีข้อความกล่าวถึง พระรูปกายและพระธรรมกาย ไว้ดังนี้

     ๒๕๕. นานาคุณวิจิตฺตสฺส รูปกายสฺส สตฺถุโน สพฺพเทวมนุสฺสานํ มารพนฺธวิโมจิโนย เมตฺตาพเลน มหตา สทา โสตฺถึ กโรตุ โนฯ

      ๒๕๖. สพฺพญฺญุตาทิกายสฺส ธมฺมกายสฺส สตฺถุโน จกฺขาทฺยโคจรสฺสาปิ โคจรสฺเสว ภูริยา เตโชพเลน มหตา สพฺพมงฺคลมตฺถุ โนฯ

     แปลได้ความว่า “๒๕๕ : ด้วยเมตตานุภาพอันยิ่งใหญ่ของพระศาสดาผู้มีรูปกายอันงามวิจิตรด้วยคุณนานาประการ ผู้ทรงปลดเปลื้องเวไนยชนจากบ่วงมาร ขอมงคลจงมีแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายตลอดไป”

    “๒๕๖ : ด้วยเดชานุภาพอันยิ่งใหญ่แห่งธรรมกายมีพระสัพพัญญุตญาณเป็นต้นของพระศาสดา อันมิใช่อารมณ์ของจักษุเป็นต้น แต่เป็นอารมณ์ของปัญญาเท่านั้นขอสรรพมงคลจงมีแก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย”
 
คัมภีร์อุปปาตสันติ อักษรธรรมลาว ที่มา : หอสมุดแห่งชาติลาว
คัมภีร์อุปปาตสันติ อักษรธรรมลาว
ที่มา : หอสมุดแห่งชาติลาว

     จึงเห็นได้ว่าคาถาอุปปาตสันติได้แยกรูปกายและธรรมกาย ของพระพุทธเจ้าออกจากกันอย่างชัดเจน โดยระบุว่าธรรมกายของพระพุทธเจ้าประกอบด้วยพระสัพพัญญุตญาณเป็นต้น และกล่าวอีกว่า พระธรรมกายสามารถเห็นได้ด้วยปัญญา มิใช่ด้วยตาสามัญทั่วไปจากอายุของคาถาอุปปาตสันติที่ประเมินไว้เราสามารถสรุปได้ว่า อย่างช้าในพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ธรรมกายย่อมเป็นที่รู้จักกันดีในเอเชียอาคเนย์และอย่างน้อยในดินแดนล้านนาแล้ว

      ถัดมาคือ คัมภีร์พระธัมมกายาทิ เป็นคัมภีร์ศาสนาพุทธที่แต่งขึ้นด้วยภาษาบาลีจัดอยู่ในประเภทปกรณ์วิเศษ พบอยู่ในชุดพระไตรปิฎกฉบับสมบูรณ์ที่ทรงสร้างโดยพระมหากษัตริย์ไทย คือพระไตรปิฎกฉบับรองทรงโดยล้นเกล้ารัชกาลที่ ๑ ใช้ทรงประจำพระองค์เป็นหลักฐานชิ้นที่ ๘ และ ฉบับเทพชุมนุม ที่สร้างขึ้นในช่วง พ.ศ. ๒๓๖๗-๒๓๙๔ โดยล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๓ และพระราชทานไว้ประจำวัดพระเชตุพนฯ เป็นหลักฐานชิ้นที่ ๙ มีข้อความสำคัญว่า
 
คัมภีร์พระธัมมกายาทิ ฉบับเทพชุมนุม ร.๓ วัดพระเชตุพนฯ
คัมภีร์พระธัมมกายาทิ ฉบับเทพชุมนุม
ร.๓ วัดพระเชตุพนฯ

    อญฺเญสํเทวมนุสฺสานํ พุทฺโธอติวิโรจติ ยสฺสตมุตฺตมงฺคาทิญาณํ สพฺพญฺญุตาทิกํ ธมฺมกายมคฺคํ พุทฺธํ นเมตํโลกนายกํ อิมํ ธมฺมกาย พุทฺธลกฺขณํ โยคาวจรกุลปุตฺเตน ติกฺขญาเณน สพฺพญฺญุพุทฺธภาวํ ปตฺเถนฺเตน ปุนมฺปุนํ อนุสฺสริตพฺพํฯ

   แปลเป็นไทยได้ว่า “เพราะเหตุที่พระพุทธเจ้าทรงมีพระอวัยวะทุกส่วนสูงสุดดุจดั่งประกอบด้วยสัพพัญญุตญาณ ที่รู้กันว่าพระธรรมกายไม่มีใครจะเป็นผู้นำโลกได้เท่า ทรงรุ่งโรจน์กว่าเทวดาและมนุษย์เหล่าอื่นพระโยคาวจรผู้มีญาณแก่กล้า เมื่อปรารถนา  จะเป็นพระสัพพัญญูพุทธเจ้า พึงระลึกถึงซึ่งพุทธลักษณะคือ พระธรรมกายบ่อยๆ สิ่งนี้แสดงว่าพระพุทธเจ้าทรงรุ่งเรืองเหนือกว่ามนุษย์และเทวดาทั้งปวงเพราะทรงมีธรรมกายและพระธรรมกายนี้เองสามารถนำไปสู่พุทธภาวะได้”

      ลำดับถัดมาพบ คัมภีร์จตุรารักขา เป็นหลักฐานชิ้นที่ ๑๐

    ในคัมภีร์จตุรารักขานี้ได้พบคำว่า ธรรมกายในคาถาที่ ๑๑ ซึ่งเป็นข้อความสรุปการปฏิบัติพุทธานุสติ มีเนื้อความว่า ทิสฺสมาโน ปิตาวสฺส รูปกาโย อจินฺติโย อสาธารณญาณฑฺเฒ ธมฺมกาเย กถา ว กาติ ฯ

   แปลได้ว่า “แม้พระรูปกายของพระองค์ที่ปรากฏอยู่ก็ยังเป็นเรื่องอจินไตย จะกล่าวไปไยถึงพระธรรมกาย (ของพระองค์) ซึ่งมั่งคั่งไปด้วยญาณ คือความรู้ที่ไม่ทั่วไป” ซึ่งอาจสรุปเป็นประเด็นหลักได้ ๒ ประเด็น คือ

     ๑. ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีธรรมกายซึ่งแยกออกจากรูปกายอย่างชัดเจน
     ๒. ลักษณะที่สำคัญของธรรมกายของพระพุทธองค์ คือ มั่งคั่งไปด้วยญาณ และลักษณะของญาณเป็นความรู้เฉพาะที่ไม่ทั่วไป ซึ่งเป็นเรื่องอจินไตย

      คัมภีร์จตุรารักขานี้พบที่ประเทศไทยทั้งหมด ๓ แห่ง คือ

     ๑. คัมภีร์จตุรารักขา ฉบับอักษรขอมไทย ใบลาน เก็บรักษาไว้ที่หอสมุดแห่งชาติ
     ๒. คัมภีร์จตุรารักขา ฉบับอักษรธรรมล้านนา ใบลาน เก็บรักษาไว้ที่หอสมุดแห่งชาติ
     ๓. คณะทีมงานนักวิจัยของสถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย DIRI ได้ลงพื้นที่สำรวจในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และได้พบคัมภีร์จตุรารักขาจารด้วยอักษรขอม ที่หอไตรประจำรัชกาลที่ ๑ วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร
 
 
คัมภีร์ธัมมกาย อักษรธรรมล้านนา ฉบับวัดป่าสักน้อย เชียงใหม่ ที่มา : สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
คัมภีร์ธัมมกาย อักษรธรรมล้านนา
ฉบับวัดป่าสักน้อย เชียงใหม่
ที่มา : สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

     คัมภีร์ธัมมกาย ฉบับวัดป่าสักน้อย เป็นหลักฐานชิ้นที่ ๑๑ เป็นคัมภีร์ใบลาน ไม่ระบุปีที่สร้าง เก็บรักษาไว้ที่วัดป่าสักน้อย จังหวัดเชียงใหม่ เขียนด้วยอักษรธรรมล้านนา ท่อนต้นเป็นคาถาพระธรรมกายภาษาบาลี เนื้อหา   ในท้ายใบลานคัมภีร์มีอยู่ว่า “คาถาบทนี้ชื่อธัมมกาย ขึ้นใจไว้จำเริญดีนักแล” บ่งบอกถึงการใช้ประโยชน์ของคาถาธรรมกาย ด้วยการนำมาเป็นบทสวดหรือท่องจำและแสดงถึงการเรียกคาถาบาลีนี้ว่า คาถาพระธัมมกายหรือคาถาพระธรรมกาย อย่างชัดเจน'
 
คัมภีร์มูลกัมมัฏฐาน อักษรธรรมล้านนา ฉบับวัดป่าเหมือด น่าน ที่มา : สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
คัมภีร์มูลกัมมัฏฐาน อักษรธรรมล้านนา ฉบับวัดป่าเหมือด น่าน
ที่มา : สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

     คัมภีร์มูลกัมมัฏฐาน เป็นหลักฐานชิ้นที่ ๑๒ เนื้อหาในคัมภีร์แนะนำการเจริญสมาธิภาวนาตั้งแต่ชั้นต้น ฉบับที่ศึกษานี้เป็นหนังสือพับสา ซึ่งเป็นสมุดไทยของล้านนา รักษาไว้ที่วัดป่าเหมือด จังหวัดน่าน เขียนด้วยอักษรธรรมล้านนาในลักษณะร้อยแก้ว ไม่ระบุผู้สร้างและปีที่สร้าง ในตอนท้ายของคาถาพระธรรมกายในคัมภีร์มูลกัมมัฏฐานเป็นข้อความแนะนำการใช้ประโยชน์จากคาถานี้ในการแก้ไขอาการผิดปกติต่าง ๆ อันเป็นอุปสรรคที่ทำให้ปฏิบัติกรรมฐานไม่ได้ ด้วยอานุภาพแห่งพระ-พุทธคุณ คือ พระธรรมกาย จะทำให้หายจากอาการผิดปกติต่าง ๆ เหล่านั้นได้
 
จารึกลานเงินประกับทอง ปัจจยาการและธรรมกาย
ที่มา : วัดพระเชตุพนฯ
จารึกลานเงินประกับทอง ปัจจยาการและธรรมกาย
ที่มา : วัดพระเชตุพนฯ


     จารึกลานเงิน เป็นหลักฐานชิ้นที่ ๑๓ ค้นพบจารึกจากกรุพระมหาเจดีย์ศรีสรรเพชญดาญาณ วัดพระเชตุพนฯ ในปี พ.ศ. ๒๕๓๑ คาดว่าสร้างขึ้นในยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น (พ.ศ. ๒๓๒๕-๒๓๙๔) ได้พบจารึกลานทองและลานเงินในกรุเดียวกันหลายผูก มีคำจารึกเกี่ยวกับพระธรรมคำสอน ซึ่งเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาบรรจุอยู่ในหีบทองลงยา     หนึ่งในนั้นคือ จารึกลานเงินเรื่องพระธรรมกาย

     และสุดท้าย หลักฐานชิ้นที่ ๑๔ เป็นหนังสือที่พิมพ์เผยแพร่ในปี พ.ศ. ๒๔๗๙ ชื่อ “หนังสือพุทธรังสีธฤษดีญาณว่าด้วยสมถแลวิปัสสนากัมมัฏฐาน ๔ ยุค” เนื้อหาภายในหนังสือเล่มนี้ถ่ายทอดและแปลจากคัมภีร์โบราณยุคกรุงศรีอยุธยา กรุงศรีสัตตนาคนหุตเป็นต้น หลักฐานธรรมกาย มีปรากฏอยู่ในบทที่ได้ต้นฉบับสืบทอดมาจากวัดประดู่โรงธรรมกรุงศรีอยุธยา ว่าด้วย “แบบการขึ้นกัมมัฏฐานห้องพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ” มีเนื้อหาแนะนำการเจริญวิธีสมาธิภาวนา อันกล่าวกันว่าสืบเนื่องมาจากทิสาปาโมกขาจารย์ ๕๖ องค์แต่โบราณ ภายในมีข้อความเกี่ยวกับธรรมกาย ความว่า

     “จึงตั้งจิตต์พิจารณาดูธรรมกายในรูปกายด้วยการดำเนินในโพชฌงค์ทั้ง ๗ ประการ จนจิตต์รู้แจ้งแทงตลอดในรูปธรรมและนามธรรมได้แล้ว จักมีตนเป็นที่พึ่ง จักมีธรรมเป็นที่พึ่ง ด้วยประการฉะนี้” และมีข้อความว่า

  “พระโยคาวจรผู้รู้ว่าธรรมกายดำรงอยู่ในหทัยประเทศแห่งสรรพภูติ ทำให้หมุนดังว่าหุ่นยนต์ ท่านจึงตั้งใจเจริญพระวิปัสสนาญาณเพื่อให้ถึงธรรมกายเป็นที่พึ่งอันยอดเยี่ยมโดยสิ้นเชิง ถึงสถานอันสงบระงับ ประเสริฐเที่ยงแท้ เพราะความอำนวยของธรรมกายนั้นเป็นอมตะ”

    ทั้งสองข้อความมีเนื้อหาสื่อว่า พระธรรมกาย คือ สิ่งสูงสุดอันเป็นผลจากการปฏิบัติธรรม และธรรมกายมีอยู่ภายในตัวของผู้ปฏิบัติ เป็นที่พึ่ง เป็นที่สงบระงับสูงสุด และความอำนวยของธรรมกายเป็นอมตะ ซึ่งถือเป็นข้อความสำคัญที่ช่วยยืนยันถึงความมีอยู่จริงของพระธรรมกายภายใน และเป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นถึง “ลักษณะ” ของพระธรรมกายวิธีการเข้าถึง ตลอดจนเป็นการระบุเพื่อยืนยันว่า การจะเข้าถึงพระธรรมกายนั้นจะต้องอาศัย “การปฏิบัติธรรม” อย่างอุกฤษฏ์ มิได้เป็นการนึกคิดด้นเดาเอาได้ตามวิสัยภายนอก

   จากหลักฐานเอกสารโบราณ ทั้งที่เป็นศิลาจารึก จารึกลานเงิน พับสา และใบลานที่กล่าวไว้ข้างต้น ทำให้กล่าวได้ว่า ในหลักฐานโบราณต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นคัมภีร์ใบลาน พับสา จารึกต่าง ๆ นั้น ล้วนแต่มีข้อความที่แสดงถึงคำว่า “ธรรมกาย” อยู่หลายแห่ง แต่ละแห่งล้วนระบุอย่างชัดเจนตรงไปตรงมา มีลักษณะที่เข้าใจได้ง่ายและเชื่อมโยงกับสภาวธรรมที่อยู่ภายในแทบทุกชิ้น ซงึ่ สามารถสรุปได้ดัง นี้

๑. “ธรรมกาย” มีหลักฐานอยู่ในประเทศไทย เป็นที่รู้จักในสังคมทุกชนชั้น
๒. “ธรรมกาย” พบในภาษาสันสกฤต ๕ ชิ้น
๓. “ธรรมกาย” พบในภาษาบาลีและภาษาไทย ๙ ชิ้น
๔. “ธรรมกาย” เป็นสิ่งสำคัญที่ได้รับการถนอมรักษาเพื่อสืบทอดสู่อนุชนรุ่นหลัง

    ทั้งนี้ จากการศึกษาพบว่า “ธรรมกาย” ตามที่ปรากฏในหลักฐานโบราณในประเทศไทยนั้น เป็นประดุจที่พึ่งอันสูงสุดของสังคม ของพุทธศาสนิกชนทุกหมู่เหล่า อีกทั้งยังเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุดในสังคมของผู้ปฏิบัติสมาธิภาวนาด้วย สิ่งที่น่าสนใจยิ่งไปกว่านั้นก็คือในหลายยุคหลายสมัยทีผ่าน ๆ มานั้น “ธรรมกาย” ล้วนเป็นสิ่งที่ทุก ๆ สถาบันทางการเมือง การปกครอง และทางสังคม ต่างให้การสนับสนุนส่งเสริมเรื่อยมาจนทุกวันนี้


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น