วันพุธที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2560

หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๖)


 
เรื่อง : พระครูวิเทศสุธรรมญาณ วิ. (สุธรรม สุธมฺโม) และคณะนักวิจัย DIRI
จากวารสารอยู่ในบุญฉบับเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๘


    (ต่อจากฉบับที่แล้ว) ที่มีการเผยแผ่พระพุทธศาสนาตามเส้นทางค้าขายในยุคพุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๒ นั้น ปรากฏมีโบราณวัตถุรวมทั้งศิลาจารึกคาถาทั้งภาษาบาลีและสันสกฤตปรากฏให้เห็นเป็นหลักฐาน ค้นพบที่อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม ประเทศไทย และบางส่วนเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์ที่ประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย เป็นต้น (ดังที่ปรากฏในภาพ) ซึ่งสะท้อนให้เห็นความรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาตลอดฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทย
 
(ซ้าย) คัมภีร์พระพุทธศาสนาทองคำ อักษรปัลลวะพุทธศตวรรษที่ ๑๒ พิพิธภัณฑสถานอินโดนีเซีย
ที่มา http://dl.lontar-library.org/gdl.php?mod=browse&
op=read&id=jkpklontar-ldl-img-63
(ชวา) จารึกฐานรองพระธรรมจักร อักษรปัลลวะ ภาษาบาลีพุทธศตวรรษที่ ๑๒ พบที่ อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม สรุป
คำแปลได้ว่า “ธรรมจักรนี้เป็นของพระพุทธเจ้า ประกอบด้วยอริยสัจ ๔ เมื่อหมุนธรรมจักร ๓ รอบ จะเกิดอาการ
๑๒ ประการ ของสัจจญาณ กิจจญาณ และกตญาณ” ภาพ : ชะเอม แก้วคล้าย


ศิลาสลักภาพเจดีย์สมัยปัลลวะและจารึกอักษรปัลลวะรัฐเคดาห์ มาเลเซีย พุทธศตวรรษที่ ๑๒
ที่มา http://www.photodharma.net/Malaysia/Bujang-Valley-Museum/Bujang-Valley-Museum.htm

     ผู้เขียนและคณะนักวิจัยของสถาบันดีรี (DIRI) เพิ่งเดินทางกลับจากประเทศนอร์เวย์และสหรัฐอเมริกา สืบเนื่องจากการลงนามสัญญาความร่วมมือทางวิชาการ ทั้งที่มหาวิทยาลัยออสโลและมหาวิทยาลัยวอชิงตันซึ่งทั้งสองสถาบันเป็นแหล่งที่มี ข้อมูลปฐมภูมิ (Primary Source) ของคัมภีร์พุทธโบราณอายุกว่า ๒,๐๐๐ ปี เป็นจำนวนมาก ที่ค้นพบในเขตคันธาระและแถบเอเชียกลาง ดังนั้นในฉบับนี้จึงขอนำเสนอเส้นทางการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในเขตคันธาระและแถบเอเชียกลาง

ศิลาจารึกมนต์ในพุทธศาสนามหายาน อักษรปัลลวะภาษาปรากฤต เกาะมัลดีฟ พุทธศตวรรษที่ ๑๒
(สันนิษฐานว่าเป็นศิลาฤกษ์ใช้ในการก่อสร้างสถานที่สำคัญ)
ที่มา https://www.tamilnet.com

     ขอกล่าวย้อนกลับมาทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือของชมพูทวีป ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๗ หลังการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระเจ้าอโศกมหาราชราว ๓๐๐ ปี พระเจ้ากนิษกะทรงเป็นผู้ปกครองอาณาจักรกุษาณะ และมีพระเดชานุภาพด้านการทหารและการปกครองทรงเป็นอัครพุทธศาสนูปถัมภกผู้ยิ่งใหญ่ และทรงเป็นผู้กำหนดการใช้มหาศักราชขึ้นพระราชอาณาจักรมีศูนย์กลางอยู่ที่แคว้นคันธาระและแผ่ขยายเข้าไปถึงเมืองทูรฟาน1 ในเขตแอ่งทาริมของเอเชียกลาง จนถึงเมืองปาฏลีบุตรในตอนเหนือของชมพูทวีป ราชธานีของพระองค์คือเมืองเปชวาร์ในประเทศปากีสถานปัจจุบันทรงอุปถัมภ์ให้มีการสังคายนาพระไตรปิฎกของนิกายสรวาสติวาท ซึ่งมีการบันทึกพระธรรมคำสอนเป็นลายลักษณ์อักษรในครั้งนี้ด้วยพระพุทธศาสนาจึงเผยแผ่ไปสู่เอเชียกลางและจีนอย่างรวดเร็วตามเส้นทางการค้าขายทางบก ซึ่งต่อมาอีกหลายศตวรรษ พระพุทธศาสนาก็เผยแผ่ไปตามเส้นทางการค้าทางทะเล วรรณคดีพุทธศาสนาภาษาสันสกฤตเจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมากในยุคนี้ ในด้านพุทธศิลป์คันธาระก็มีความเจริญถึงขีดสุดในยุคของพระองค์เช่นกัน
 

เหรียญกษาปณ์ พระเจ้ากนิษกะ พ.ศ. ๖๒๑-๖๔๔ (127-151 A.D.) อาณาจักรกุษาณะ
ที่มา http://humshehri.org


ผอบบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ พุทธศตวรรษที่ ๗
ที่มา http://www.thefridaytimes.com

     หลักฐานโบราณคดีที่สำคัญของยุคนี้ คือ ผอบบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ขุดพบที่มหาสถูปพระเจ้ากนิษกะนอกกรุงเปชวาร์ ประเทศปากีสถาน ฝาผอบเป็นรูปพระพุทธเจ้าประทับบนดอกบัวพร้อมเทวดา ๒ องค์ จารึกที่ผอบเป็นอักษรขโรษฐีมีใจความว่า “ทาสชื่ออคิสาเลาผู้ควบคุมงานที่วิหารกนิษกะในอารามของมหาเสนา” ปัจจุบันผอบเก็บรักษาไว้ที่ พิพิธภัณฑ์เปชวาร์ ส่วนพระบรมสารีริกธาตุนั้นรัฐบาลอังกฤษอัญเชิญไปประดิษฐานที่เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมาร์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๓


แคว้นคันธาระ เมืองเปชวาร์ แคว้นแบกเทรีย และบริเวณใกล้เคียง อันเป็นประตูเส้นทางการค้าขายโบราณไปสู่แอ่งทาริมและจีนทางตะวันออก
ที่มา http://pro.geo.univie.ac.at/

     ร่องรอยอารยธรรมทางพระพุทธศาสนาได้รับการขุดค้นทางโบราณคดีในเมืองสำคัญ ๆ ของคันธาระและแบกเทรีย ได้แก่ เมืองบาช บามิยัน ฮัดดา ในอัฟกานิสถานปัจจุบัน และในแถบสวาด เมืองเปชวาร์ ตักสิลา ของปากีสถาน
 

ด้านข้างผอบดุน เป็นรูปกษัตริย์ในราชวงศ์กุษาณะสองข้างเป็นเทพดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ในศาสนาของอิหร่าน
ที่มา http://tongiaovadantoc.com/

ในดินแดนที่ได้รับพระพุทธศาสนาไว้นี้ พระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถูกเก็บรักษาไว้ในรูปคัมภีร์โบราณ ซึ่งทำจากวัสดุในท้องถิ่น เช่น เปลือกไม้เบิร์ชและกระดาษ สำหรับอักษรที่ใช้ในการจารคัมภีร์ คืออักษรขโรษฐี ภาษาที่ใช้ คือ ภาษาปรากฤตและภาษาท้องถิ่น เช่น ภาษาคานธารี คัมภีร์ที่ยังคงเหลือมาถึงปัจจุบันมักพบซุกซ่อนอยู่ในเขตโบราณสถานและตามถ้ำบนภูเขา นับเป็นเอกสารทางพระพุทธศาสนาที่จารึกพระธรรมคำสอนที่เก่าแก่ที่สุด ตัวคัมภีร์เปราะบางและพร้อมที่จะสลายตัวเป็นฝุ่นผงเมื่อถูกจับต้อง จึงต้องใช้กระบวนการพิเศษในการคลี่ม้วนคัมภีร์เพื่อการอ่านศึกษา ซึ่งการเข้าถึงคัมภีร์โบราณเหล่านี้เปิดให้เฉพาะนักวิชาการที่มีหน้าที่เท่านั้น ปัจจุบันคัมภีร์ดังกล่าวส่วนใหญ่เก็บรักษาไว้ในสถาบันวิชาการระดับโลก เช่นห้องสมุดแห่งชาติอังกฤษ3 สถาบันสเคอเยน4 ประเทศนอร์เวย์ เป็นต้น
 
 

พระพุทธรูปใหญ่ที่บามิยัน อัฟกานิสถานถูกทำลายโดยกลุ่มตอลิบาน (ฏอลิบาน)
ที่มา http://www.fravahr.org


(ซ้าย) คัมภีร์เปลือกไม้เบิร์ช อักษรขโรษฐีภาษาคานธารี พุทธศตวรรษที่ ๖-๗ ที่มา http://jayarava.blogspot.com
(ขวา) คัมภีร์มหายานสูตร พบที่บาจัวร์ ปากีสถานเปลือกไม้เบิร์ช อักษรขโรษฐี ภาษาคานธารี

     นับว่าเป็นบุญวาสนาของพวกเราชาวพุทธ และด้วยอานุภาพของพระรัตนตรัย ที่ปัจจุบันนี้ยังมีผู้อนุรักษ์เก็บรักษาและสนับสนุนให้คณะนักวิจัยของสถาบันดีรีมีโอกาสทำการศึกษาวิจัยอย่างจริงจัง จากข้อมูลปฐมภูมิเหล่านั้น ซึ่งเป็นคำสอนดั้งเดิม ทั้งนี้เพื่อทำความจริงให้ปรากฏแก่ชาวโลก (โปรดติดตามฉบับต่อไป)

1
Turfan
2 Hadda

3 British Library
4 Schøyen

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น