เรื่อง : พระสุธรรมญาณวิเทศ วิ. (สุธรรม สุธมฺโม) และคณะนักวิจัย DIRI
จากวารสารอยู่ในบุญฉบับเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๙
ช่วงกาลทานมหากฐิน ๑ เดือนนับจากหลังวันออกพรรษาถึงวันลอยกระทง ซึ่งเป็นฤดูกาลที่สำคัญสำหรับพุทธศาสนิกชนก็เป็นอันเสร็จสิ้นเรียบร้อย เป็นที่ปลื้มปีติของชาวพุทธผู้รักการแสวงบุญสร้างบารมีทุกคน ในวาระอายุวัฒนมงคลได้ ๗๒ ปี ของพระเดชพระคุณพระเทพญาณมหามุนี (หลวงพ่อธัมมชโย) มีโครงการทอดกฐินทั่วไทย โดยคณะศิษยานุศิษย์เป็นผู้แทนไปทอดตามวัดต่าง ๆ ทำให้เห็นคุณค่าของคำสอนอันบริสุทธิ์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่หล่อเลี้ยงจิตใจสาธุชน จนเนื่องไปถึงเศรษฐกิจของประเทศที่ทำให้เกิดภาวะฟื้นฟู ซึ่งเกิดจากความศรัทธาบริจาคสิ่งของอันควรแก่สมณบริโภค และถวายปัจจัยทำบุญให้แก่วัด พระสงฆ์ ซึ่งทางวัดก็จะได้มีกองทุนนำไปใช้ก่อสร้างหรือซ่อมแซมศาสนสมบัติที่ยังคงค้างอยู่ ในการนี้ ทีมงานนักวิจัยของสถาบันฯ DIRI นอกจากจะได้ไปทอดกฐินในวัดสำคัญ ๆ หลายแห่งและที่จังหวัดมหาสารคาม ก็มีโอกาสได้ไปเก็บข้อมูล และสานต่อการอนุรักษ์คัมภีร์ใบลานอักษรธรรมอีสานที่พิพิธภัณฑ์วัดมหาชัย (พระอารามหลวง) และวัดหนองหล่ม ทำให้ได้ทั้งงานบุญและงานวิชาการไปพร้อม ๆ กัน
สำหรับในฉบับที่แล้วนั้น ผู้เขียนได้พาท่านผู้อ่านให้ย้อนกลับไปรู้จักกับประวัติศาสตร์ของ “พระธรรมจักรศิลา” และความเชื่อมโยงกันของการที่พระพุทธศาสนาได้เริ่มเข้ามาสู่ดินแดนสุวรรณภูมิแห่งนี้ เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๑๑ หรือประมาณ ๑,๔๐๐ กว่าปีล่วงมาแล้ว ซึ่งควรกล่าวได้ว่า “พระธรรมจักรศิลา” นี้ มีความสำคัญมาก เพราะศิลาหลักนี้ได้จารึกหลักธรรมของพระพุทธศาสนาไว้ให้เราศึกษาอย่างครบถ้วน นับตั้งแต่อริยสัจ (ความจริง ๔ ประการ) กระบวนการดำเนินไปของอริยมรรค ซึ่งนับว่าเป็น “ศิลาจารึก” ที่มีความเก่าแก่กว่าหลักฐานชิ้นใดที่บรรจุข้อความในลักษณะเดียวกันนี้
ในคืนวันอังคารที่ ๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับพระเจ้าอโศกมหาราช ผ่านโรงเรียนอนุบาลฝันในฝันวิทยา ซึ่งทั้งตัวผู้เขียนเองและคณะนักวิชาการของสถาบันฯ DIRI ต่างก็มีมติเห็นร่วมกันว่า ยังมีเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับพระเจ้าอโศกมหาราชที่ยังไม่ได้นำมาขยายความอีกหลายประเด็น โดยเฉพาะที่ปรากฏอยู่ในจารึก ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่พุทธศาสนิกชนทำให้มีกำลังใจในการสร้างบารมีสั่งสมบุญให้ยิ่ง ๆ ขึ้นต่อไป และเป็นการถวายพระเกียรติแด่พระเจ้าอโศกมหาราช ผู้ทรงเป็นตัวอย่างของพระธรรมราชาธิราช ที่จรรโลงพระพุทธศาสนาให้ยืนยาวมาจนถึงทุกวันนี้พระองค์หนึ่ง
ดังเป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่า พระเจ้าอโศกมหาราชนั้น หลังจากทรงทำสงครามเอาชนะแคว้นกลิงคะได้แล้ว พระองค์มิได้ทรงยินดีที่จะดำเนินนโยบายโดยใช้ความรุนแรงอีกต่อไป การณ์กลับเป็นว่า พระองค์ทรงหันมาทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาเป็นการใหญ่ เนื่องด้วยมีพระราชศรัทธาในสามเณรนิโครธ และทรงตระหนักว่า การทำสงครามมิใช่หนทางที่นำไปสู่ชัยชนะที่แท้จริง เรียกว่าทรงเปลี่ยนจากพระราชาผู้กำชัยด้วยสงคราม (สายกวิชัย) มาสู่ความเป็น “ธรรมวิชัย” หรือ “ชนะโดยธรรม”ในที่สุด ซึ่งสิ่งที่จะเป็นเครื่องชี้ชัดถึงความจริงในข้อนี้ได้ดีที่สุดก็คือ การศึกษาพิจารณาจากหลักฐานที่มีอยู่ในสมัยนั้นเป็นสำคัญ ทั้งนี้ข้อถกเถียงในเรื่องเกี่ยวกับความแท้จริงของหลักฐานศิลาจารึกพระเจ้าอโศกนั้น มีข้อยุติมาเนิ่นนานแล้วว่าทั้งหมดเป็นของจริง และข้อความในจารึกล้วนเชื่อมโยงกับพระพุทธศาสนาจริง
จากศิลาจารึกที่พระเจ้าอโศกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นนั้น1 พบว่าโดยส่วนใหญ่แล้วเป็นพระบรมราชโองการที่เกี่ยวกับการสร้างความผาสุกแก่ราษฎร การปรับปรุงแก้ไขพัฒนาสิ่งต่าง ๆ ในราชอาณาจักรให้เอื้ออำนวยต่อการดำรงชีวิต และการประกอบสัมมาอาชีพของราษฎร โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการทรงพยายามโน้มนำให้ราษฎรของพระองค์ก้าวมาสู่หนทางของพระพุทธศาสนา ซึ่งการที่ทรงปฏิบัติเช่นนี้ค่อนข้างชี้ชัดว่าทรงมีจุดมุ่งหมายที่จะเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ทรงธรรม ที่ให้ความสำคัญแก่การปฏิบัติธรรมและความมั่นคงของพระพุทธศาสนามากเพียงใด
จากการศึกษาร่วมกับคณะนักวิจัยและนักศึกษาของสถาบันฯ DIRI ที่ส่งไปศึกษาเกี่ยวกับจารึกโบราณของพระเจ้าอโศกมหาราชพบว่า ทรงมีเป้าหมายในการเป็นกษัตริย์แห่งธรรมจริงดังที่นักวิชาการหลายแขนงได้วิเคราะห์ ซึ่งพุทธศาสนิกชนทั่วโลกต่างก็เห็นพ้องต้องกันว่าพระเจ้าอโศกมหาราช“พระปิยทัสสี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ” นั้นทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงให้การอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาในยุคของพระองค์ดังที่ไม่เคยมีราชาแคว้นใดทรงทำมาก่อน แต่ประเด็นที่เราเห็นนอกเหนือไปจากนั้นก็คือ พระเจ้าอโศกมหาราชมิได้ทรงมีจุดมุ่งหมายเพียงแต่การเป็น “กษัตริย์ผู้เป็นที่รักของทวยเทพ” และของประชาชนเท่านั้น หากแต่ยังทรงมุ่งหวังที่จะเป็น “พุทธบริษัทที่ดี” ที่บรรลุถึงจุดมุ่งหมายของการหลุดพ้นเช่นเดียวกับมหาราชาองค์อนื่ ๆ ในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาอีกด้วยดังจะเห็นได้จากพระบรมราชโองการฉบับหนึ่งของพระองค์ ซึ่งมีความตอนหนึ่งว่า..
ศิลาจารึกฉบับน้อย ตอนที่ ๑ จารึกฉบับเหนือ
พระผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพได้ตรัสไว้ดังนี้
“นับเป็นเวลาเกินกว่าสองปีครึ่งแล้ว ที่ข้าฯ ได้เป็นอุบาสก แต่ตลอดเวลา ๑ ปี ข้าฯมิได้ทำความพากเพียรใด ๆ อย่างจริงจังเลยและนับเป็นเวลา ๑ ปีเศษแล้วที่ข้าฯ ได้เข้าหาสงฆ์ ข้าฯ จึงได้ลงมือทำความพากเพียรอย่างจริงจัง..”2
จากข้อความข้างต้นแสดงให้เห็นชัดว่าพระเจ้าอโศกมหาราชนั้น อาจจะทรงเริ่มศึกษาหลักธรรมและการปฏิบัติในทางพระพุทธศาสนาหรือทรงได้รับคำแนะนำให้ปฏิบัติธรรมมากขึ้นแล้ว แต่อาจยังไม่ก้าวหน้านัก จึงทรงตั้งพระ-ราชหฤทัยที่จะกลับมาทำให้สำเร็จอย่างจริงจังอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้หากพิจารณาอย่างถี่ถ้วนมากขึ้นแล้ว เราอาจจะอนุมานได้ว่า คำจารึกนี้น่าจะเกิดขึ้นภายหลังจากการทำสงครามพิชิตแคว้นกลิงคะไม่นานนัก และเป็นช่วงที่กำลังทรงเริ่มศึกษาธรรมในพระพุทธศาสนาในระยะแรก ๆ อย่างไรก็ตาม นอกจากข้อความในจารึกส่วนนี้แล้ว เมื่อได้พิจารณาข้อความใน “จารึกหลักศิลา” อื่น ๆ เพิ่มเติม ก็ทำให้เราสามารถกล่าวได้ชัดเจนขึ้นว่า พระเจ้าอโศกมหาราชนั้น ทรงมีวิริยอุตสาหะ และทรงให้ความสำคัญกับธรรมปฏิบัติเพียงใด ดังข้อความตอนหนึ่งว่า ...
จารึกหลักศิลา ฉบับที่ ๑
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปิยทัสสี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ได้ตรัสไว้ดังนี้
“ธรรมโองการนี้ ข้าฯ ได้ให้จารึกขึ้นไว้เมื่ออภิเษกแล้วได้ ๒๖ พรรษา ประโยชน์ในโลกนี้และโลกหน้าย่อมเป็นสิ่งที่จะพึงปฏิบัติให้สำเร็จโดยยาก หากปราศจากความเป็นผู้ใคร่ธรรมอย่างยิ่งยวด การใช้ปัญญาไตร่ตรองอย่างยิ่งยวด การตั้งใจฟังคำสั่งสอนอย่างยิ่งยวดความเกรงกลัวต่อบาปอย่างยิ่งยวด และความอุตสาหะอย่างยิ่งยวด ..
“บัดนี้ ด้วยอาศัยคำสั่งสอนของข้าฯความมุ่งหวังในทางธรรม ความฝักใฝ่ใคร่ธรรมได้เจริญงอกงามขึ้นแล้วทุก ๆ วัน และจักเจริญงอกงามยิ่งขึ้นเรื่อยไปฯ..”3
จากข้อความที่ยกมานี้ แม้เป็นข้อความในช่วงต้นของจารึก แต่ก็แสดงให้เห็นว่า มีพระราชหฤทัยมุ่งหวังในธรรมปฏิบัติเพียงใด (โดยเฉพาะเมื่อทรงก้าวเข้าสู่ปีที่ ๒๖ หลังจากราชาภิเษกแล้ว) ในด้านหนึ่ง ด้วยฐานะของความเป็นมหาราช สิ่งที่ทรงมุ่งหวังก็คือ การทำให้ประชาชนของพระองค์ แว่นแคว้นของพระองค์ผาสุก และในอีกด้านหนึ่ง เราย่อมจะเห็นได้ว่าทรงไตร่ตรอง (ธรรม) และทรงคำนึงถึงองค์ประกอบที่ทำให้เกิดความสำเร็จในการประพฤติธรรมอยู่มากพอสมควร ทั้งนี้หากพิจารณาถึงข้อความบางตอนในศิลาจารึกหลักอื่น ๆ ก็จะยิ่งเห็นความชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น ในศิลาจารึกแห่งไพรัต (Minor Rock Edict III :Calcutta-Bairat) มีการกล่าวถึงความเชื่อในพระพุทธศาสนาและชีวิตสมณะ ซึ่งคาดว่าเป็นจารึกช่วงท้ายของรัชกาล มีเนื้อความที่แสดงว่าพระองค์ทรงเป็นอุบาสกผู้นับถือและปกป้องพระพุทธศาสนาภาพศิลาจารึกแห่งไพรัต
เนื้อหาศิลาจารึกแห่งไพรัต
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปิยทัสสี ราชาแห่งมคธ ได้ทรงอภิวาทพระภิกษุสงฆ์แล้วตรัสปราศรัยกับพระภิกษุสงฆ์ด้วยความปรารถนาดีขอให้ท่านจงมีสุขภาพแข็งแรงและมีความสุขท่านได้กล่าวว่า : ข้าแต่พระคุณเจ้าทั้งหลายท่านทั้งหลายย่อมทราบว่า ข้าพเจ้ามีความเคารพ เลื่อมใส และศรัทธา ในพระพุทธพระธรรม และพระสงฆ์ มากเพียงใด ข้าแต่ท่านผู้เจริญ สิ่งใดก็ตามที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว ทั้งหมดนั้นล้วนเป็นสุภาษิต ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ ก็ข้อที่โยมพิจารณาด้วยดีนั้น คือข้อที่ว่า “ทำอย่างไรจึงจะดำรงรักษาพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ให้ได้ตลอดกาลนาน” ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ ธรรมเหล่านี้คือ :
๑. วินยสมุกฺกํส - หลักธรรมดีเด่นในพระวินัย
๒. อริยวาส - ความเป็นอยู่อย่างพระอริยะ
๓. อนาคตภย - ภัยอันจะมีในอนาคต
๔. มุนิคาถา - คาถาของพระจอมมุนี
๕. โมเนยฺยสุตฺต - พระสูตรว่าด้วยโมไนยปฏิปทา
๖. อุปติสฺสปญฺหา - ปัญหาของอุปติสสะ และ
๗. ข้อความที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในราหุโลวาท อันว่าด้วยเรื่องมุสาวาท
“ข้าแต่พระภิกษุผู้เจริญ ข้าพเจ้ามีความปรารถนาในส่วนที่เกี่ยวกับธรรมบรรยายเหล่านี้ว่า ขอพระภิกษุและพระภิกษุณีทุกท่านที่ได้รับฟังพึงพิจารณาใคร่ครวญโดยสม่ำเสมอและจดจำไว้ แม้แต่อุบาสกและอุบาสิกาทั้งหลายก็ควรประพฤติเช่นเดียวกัน ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญทั้งหลาย จารึกนี้ได้ถูกเขียนขึ้นไว้ก็เพื่อให้ชนทั้งหลายได้เข้าใจความมุ่งหมายนี้”
เมื่อพิจารณาโดยพื้นฐาน เราอาจแลเห็นว่า การที่ทรงจารึกหลักธรรมเหล่านี้ไว้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีพระราชประสงค์จะให้ความรู้แก่ประชาชนหรือสั่งสอนประชาชนให้อยู่ในธรรมเพื่อประโยชน์แห่งการปกครองรัฐให้สงบสุข แต่จากเนื้อความหลัก ๆ เราจะพบว่าในอีกด้านหนึ่งมีพระราชปรารภอย่างลึกซึ้งถึงการขัดเกลาจิตใจ (ทั้งของประชาชนและโดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวพระองค์เองด้วย) ไปพร้อม ๆ กัน เสมือนหนึ่งจะทรงรำลึกถึงบุญและกุศลต่าง ๆ ที่ทรงปฏิบัติให้ชัดเจนขึ้น และเพื่อให้พระราชหฤทัยของพระองค์นั้นชุ่มชื่น เพื่อให้การปฏิบัติธรรมของพระองค์นั้นก้าวหน้าขึ้น ทั้งนี้ก็เพื่อประโยชน์ในโลกเบื้องหน้าที่ทรงคำนึงถึง
วัดโพธิ์ศรี อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม
และหากเราพิจารณากันโดยทิศทางดังกล่าวนี้ ก็ควรกล่าวได้ว่า แม้การทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา การทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างมหาวิหาร ๘๔,๐๐๐ แห่ง เพื่อให้เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ บำเพ็ญสมณธรรมของพระภิกษุสามเณรอย่างกว้างขวาง การทรงอุปถัมภ์การสังคายนาครั้งที่ ๓ การส่งสมณทูตตลอดจนพระเถรานุเถระไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในประเทศต่าง ๆ (รวมตลอดถึงการปรับปรุงการปกครองให้มุ่งเน้นที่ประโยชน์สุขของประชาชนตลอดรัชสมัยเรื่อยมา) นั้น สาระสำคัญก็คือ “การปูพื้นฐานทางกุศลกรรม”ของพระองค์เองให้ถึงพร้อมตามหลักพระพุทธศาสนาอย่างยิ่งยวดด้วยนั่นเอง เพื่อให้พระราชหฤทัยของพระองค์ยิ่งสามารถโน้มเข้าไปสู่ “ธรรม” ได้ดีขึ้น สมบูรณ์ขึ้น
พิพิธภัณฑ์วัดมหาชัย (พระอารามหลวง) อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม
อย่างไรก็ดี การศึกษาพระราชกรณียกิจของพระเจ้าอโศกมหาราชโดยผ่านหลักฐาน คือ ศิลาจารึกในข้างต้นนี้ แม้เป็นเพียงตัวอย่างในส่วนเล็ก ๆ ก็ตาม แต่ในมติที่สถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย (DIRI) ไม่เคยละทิ้งก็คือ การเข้าไปสืบค้นประเด็นที่อาจตกหล่นหรือมีข้อแท้จริงบางประการที่ยังไม่ได้นำเสนอออกมาสู่โลกและสาธารณะให้มากที่สุด ซึ่งในกรณีของศิลาจารึกพระเจ้าอโศกนี้ ควรถือว่ามีประเด็นและเรื่องราวที่น่าสนใจศึกษาอีกไม่น้อย โปรดติดตามเรื่องราวที่จะนำมาเสนอตามโอกาสอันควร
พิพิธภัณฑ์วัดมหาชัย (พระอารามหลวง) อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม
1 โดยทั่วไปแล้ว นักวิชาการทางประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาต่างยอมรับกันว่า จารึกของพระเจ้าอโศกมหาราชนั้นมีหลงเหลือมาถึงปัจจุบันใน ๖ รูปแบบ รวม ๓๓ รายการด้วยกัน คือ ๑) พระราชโองการที่จารึกบนก้อนศิลาจำนวน ๑๖ จารึก ๒) พระราชโองการที่จารึกบนแผ่นศิลาเล็ก ๓ จารึก ๓) พระราชโองการที่จารึกบนเสาศิลา ๘ จารึก ๔) พระราชโองการที่จารึกบนเสาศิลาน้อย ๓ จารึก ๕) จารึกบนหลักศิลาที่ไม่ใช่พระราชโองการ ๒ จารึก และจารึกบนผนังถ้ำ ๑ จารึก
2 From: A. Cunningham (1876), Inscriptions of Asoka Vol.1: Corpus Inscriptionum Indicarum, Delhi Pillar Photolithographed, plate XVIII. อ้างถึงใน L. Suthisa (2016), Asokan Edicts : An Assemblage ofSociological Assertions and Moral Guidelines, p.115-116.
3 From: A. Cunningham (1876), Inscriptions of Asoka Vol.1: Corpus Inscriptionum Indicarum, Delhi PillarPhotolithographed, plate XVIII. อ้างถึงใน L. Suthisa (2016), Asokan Edicts : An Assemblage ofSociological Assertions and Moral Guidelines, p.105-107.
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต). จารึกอโศก รัฐศาสตร์แห่งธรรมาธิปไตย. สมุทรปราการ.สำนักพิมพ์ผลิธัมม์, ๒๕๕๒.
L. Suthisa (2016), Asokan Edicts : An Assemblage of Sociological Assertions and Moral Guidelines.
School of Buddhist Study and Civilization, Gautam Buddha University.
Romila Thapar, Aśoka and the Decline of the Mauryas, second edition, 1973, Chapter V, p.179-180.
วันพุธที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2560
หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๑๙)
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น