เรื่อง : พระครูวิเทศสุธรรมญาณ วิ. (สุธรรม สุธมฺโม) และคณะนักวิจัย DIRI
จากวารสารอยู่ในบุญฉบับเดือนกรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๘
เส้นทางเผยแผ่พระพุทธศาสนา
ตลอดเดือนพฤษภาคมได้มีโอกาสไปปฏิบัติศาสนกิจต่าง ๆ ทั้งเดือน นับตั้งแต่วันที่ ๑ จัดการเสวนาเรื่องร่องรอยธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณครั้งที่ ๒ และไปปฏิบัติศาสนกิจต่อที่ภาคพื้นยุโรปอีกหลายแห่ง โดยเฉพาะการทำสัญญาความร่วมมือส่งเสริมการศึกษาที่ศูนย์พุทธศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดกับคณะท่านศาสตราจารย์ริชาร์ด กอมบริชแล้วกลับมาร่วมประชุมวิสาขะโลกตามมติของยูเอ็นที่กรุงเทพฯ จากนั้นก็เดินทางกลับไปจัดงานยูเอ็นวิสาขะนานาชาติที่มหานครซิดนีย์ แม้ต้นเดือนมิถุนายนก็มีโอกาสไปปฏิบัติศาสนกิจสืบค้นคำสอนดั้งเดิมที่วัดม้าขาว เมืองลั่วหยาง (เมืองหลวงเก่า) มณฑลเหอหนานอันเป็นวัดแห่งแรกในแผ่นดินจีนซึ่งจักรพรรดิฮั่นหมิงตี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเป็นพุทธศาสนสถาน
พระธรรมาจารย์อิ้นเล่อ เจ้าอาวาสวัดม้าขาว มอบสำเนาพระคัมภีร์ ๔๒ บรรพ
ซึ่งเป็นคัมภีร์แปลเป็นภาษาจีนที่เก่าแก่ที่สุด
ซึ่งเป็นคัมภีร์แปลเป็นภาษาจีนที่เก่าแก่ที่สุด
จึงทำให้ผู้เขียนและคณะต่างซาบซึ้งในโอวาทของพระเดชพระคุณหลวงพ่อที่กล่าวว่า “นักสร้างบารมีต้องไม่ว่างเว้นจากการสร้างความดี” เหมือนดั่งพุทธพจน์ที่ว่า “ผู้มีชีวิตอยู่แม้เพียงวันเดียว แต่เป็นผู้มีศรัทธา มีความเพียรสั่งสมความดีตลอดทั้งวันก็ถือว่าเป็นชีวิตที่ประเสริฐ”
ดังนั้น การที่คณะนักวิจัยจะใช้ชีวิตที่ประเสริฐในแต่ละวัน เพื่อตามสืบค้นคำสอนดั้งเดิม ซึ่งผ่านเวลามาร่วม ๒,๖๐๐ ปี นับจากที่พระองค์ทรงตรัสรู้ธรรม อันเป็น “อกาลิโก” คือ ไม่จำกัดด้วยกาลเวลา และการให้ได้มาซึ่งหลักฐานนั้น มีความจำเป็นต้องเริ่มสำรวจแล้วเรียนรู้เส้นทางการเผยแผ่พระพุทธศาสนาตั้งแต่ครั้งพุทธกาลจนถึงปัจจุบัน
พระเจดีย์เสียเมฆ วัดม้าขาว
ที่เชื่อว่าฐานพระเจดีย์มีพระบรมสารีริกธาตุ
อันสืบทอดมาแต่ยุคพระเจ้าอโศก
(ขอบคุณภาพจากวิกิพีเดีย)
ที่เชื่อว่าฐานพระเจดีย์มีพระบรมสารีริกธาตุ
อันสืบทอดมาแต่ยุคพระเจ้าอโศก
(ขอบคุณภาพจากวิกิพีเดีย)
ศิลาจารึก พระคัมภีร์ ๔๒ บรรพ อายุ ๔๐๐ ปี
ฉบับนี้จึงขอนำเสนอเนื้อหาสาระการเผยแผ่พระพุทธศาสนาตั้งแต่ครั้งพุทธกาลในชมพูทวีปซึ่งการเผยแผ่ถูกจำกัดด้วยภูมิประเทศและความสามารถในการเดินทาง เรื่อยมาถึงยุคประวัติศาสตร์ที่มากด้วยเรื่องราวความเป็นไปในแต่ละท้องถิ่นของดินแดนต่าง ๆ นอกชมพูทวีปที่รับพระพุทธศาสนาไว้ ซึ่งจะนำเสนอด้วยสาระพอสังเขป เพียงเพื่อชี้ให้เห็นเส้นทางการเผยแผ่พระศาสนาซึ่งส่วนใหญ่เป็นเส้นทางเดียวกับเส้นทางการค้าแต่โบราณ และเมืองต่าง ๆ ที่ตั้งอยู่บนเส้นทางการเผยแผ่พระพุทธศาสนานี้ จะเป็นแหล่งข้อมูลให้คณะนักวิจัยได้สืบเสาะหลักฐานปฐมภูมิมาใช้ในงานวิจัยสืบค้นหลักฐานธรรมกาย ดังจะได้บรรยายอย่างละเอียดในลำดับต่อไป
มหาชนบท ๑๖ แคว้นครั้งพุทธกาล
ภาพโดย : ชัชวาลย์ เสรีพุกกะณะ
ภาพโดย : ชัชวาลย์ เสรีพุกกะณะ
หลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีชี้ให้เห็นว่า พระศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพุทธดำเนินโปรดเวไนยสัตว์ไปยังแว่นแคว้นต่าง ๆ ในชมพูทวีป ซึ่งในสมัยพุทธกาลแบ่งเป็น ๑๖ มหาชนบท1 พระพุทธศาสนาประดิษฐานเป็นปึกแผ่นได้ในแคว้นทางเหนือและตะวันออกของชมพูทวีป ได้แก่ แคว้นโกศล มคธะ มัลละ ลิจฉวี (วัชชี) อังคะ กาสี เจตี และอวันตี
หลังพุทธปรินิพพานไม่นาน มีการสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งแรกที่ถ้ำสัตบรรณคูหาเมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ มีพระมหากัสสปเถระเป็นประธานในการทำสังคายนา และมีพระเจ้าอชาตศัตรูเป็นองค์อุปถัมภ์ ใช้เวลาในการสังคายนารวบรวมพระธรรมวินัยอยู่ ๗ เดือนจึงแล้วเสร็จ
ปากถ้ำสัตบรรณคูหาสถานที่กระทำสังคายนาครั้งแรก
ที่มา http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?t=39377
ที่มา http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?t=39377
อีกร้อยปีให้หลังก็เกิดการสังคายนาครั้งที่ ๒ โดยมีพระยสกากัณฑบุตรเป็นผู้ดำริเริ่มการสังคายนา มีพระเรวตเถระซึ่งเป็นศิษย์พระอานนท์และทันเห็นพระศาสดาเป็นประธาน และมีพระเจ้ากาลาโศกราชแห่งเมืองปาฏลีบุตรเป็นองค์อุปถัมภ์ การสังคายนากระทำที่วาลุการาม เมืองเวสาลี ใช้เวลา ๘ เดือนจึงแล้วเสร็จ
เมืองโบราณเวสาลีสถานที่กระทำสังคายนาครั้งที่ ๒
ที่มา http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?t=39377
ที่มา http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?t=39377
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๑๘ พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระพร้อมกับวิสุทธิสงฆ์อรหันต์ ๑,๐๐๐ รูปร่วมประชุมทำสังคายนาครั้งที่ ๓ ที่อโศการาม เมืองปาฏลีบุตร ในพระบรมราชูปถัมภ์ของพระเจ้าอโศกมหาราช ใช้เวลา ๘ เดือน
นับว่าในยุคนี้ พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองอย่างยิ่งด้วยพระบรมราชูปถัมภ์จากพระเจ้าอโศกมหาราช ทั้งการสร้างพุทธศาสนสถาน เช่น พระเจดีย์ ๘๔,๐๐๐ องค์ เสาจารึกอโศก ซึ่งนับว่าเป็นพยานหลักฐานที่ปรากฏอยู่ถึงทุกวันนี้ อีกทั้งมีการส่งสมณทูตออกไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาถึง ๙ สาย ซึ่งถือว่าพระพุทธศาสนาเผยแผ่ขยายกว้างไกลออกไปนอกชมพูทวีปได้ในยุคนั้น ทั้งนี้ขอได้โปรดติดตามรายละเอียดในฉบับต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น